ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานขององค์กร ปี 2567
ธนาคารกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานขององค์กรที่สอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงานระยะยาวขององค์กร ทั้งตัวชี้วัดผลการดำเนินงานทางการเงิน 45% และสุขภาพขององค์กร (ที่ไม่ใช่ทางการเงิน) 55% โดยตัวชี้วัดผลการดำเนินงานขององค์กรนี้จะใช้เป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับการพิจารณาผลตอบแทนสำหรับ CEO ผู้บริหารและพนักงานของธนาคาร
ผลการดำเนินงาน (45%)
ผลกำไรและคุณภาพของผลกำไร :
ธนาคารกำหนดตัวชี้วัดทางการเงินด้วยผลกำไรประจำปี รวมถึงการวัดคุณภาพของผลกำไรผ่านตัวชี้วัดในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องทางการเงินและความพอเพียงของเงินกองทุน ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและสนับสนุนผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงความสามารถในการสร้างรายได้ และการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน ตัวอย่างตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน เช่น ROE, LCR, และ C/I
สุขภาพขององค์กร (55%)
ความสัมพันธ์กับลูกค้าในการใช้ธนาคารเป็นธนาคารหลัก:
ลูกค้าคือหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ การวัดความสำเร็จในด้านนี้ไม่เพียงครอบคลุมการสร้างผลประกอบการทางการเงินในระยะสั้น แต่ยังครอบคลุมถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและธนาคาร และคุณภาพของการให้บริการต่อลูกค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกค้ามีความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับธนาคารในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ความพึงพอใจของลูกค้า จำนวนลูกค้าที่ใช้ธนาคารเป็นธนาคารหลัก รวมถึงยอดเงินฝากที่มีกับธนาคาร จึงเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ธนาคารติดตามในด้านนี้
ความสามารถด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี
ธนาคารมีเป้าหมายที่จะมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ผ่านโมเดลการทำงานแบบ Digital First โดยมุ่งใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการเสนอบริการและบริการลูกค้าที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันให้เป็นหนึ่งเดียวทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยมีตัวชี้วัดคือจำนวนลูกค้าที่ใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัล ยอดขายผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงเสถียรภาพ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และความปลอดภัยของระบบ
การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม:
ธนาคารให้ความสำคัญสูงสุดกับการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โดยธนาคารถือเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เป็นธรรมและโปร่งใส ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของลูกค้าตลอดจนถึงความรู้และความเข้าใจทางการเงิน ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานคือผลการประเมินด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรมที่จัดทำโดยหน่วยงานกำกับดูแล
การรักษาความสัมพันธ์กับพนักงาน:
ทรัพยากรบุคคลเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนสู่การบริการที่เป็นเลิศ การพัฒนาศักยภาพของพนักงานจึงมีความสำคัญสำหรับธนาคารอย่างมาก ธนาคารจะดูแลและรักษาบุคลากรไว้ภายในองค์กรอย่างเต็มความสามารถ ตัวชี้วัดที่ธนาคารติดตาม ได้แก่ อัตราการสูญเสียบุคลากร
ความยั่งยืนขององค์กร:
ธนาคารมุ่งมั่นที่จะผนวกความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายในการหลีกเลี่ยงและลดผลกระทบเชิงลบจากการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์ และการบริการของธนาคาร พร้อมแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก โดยธนาคารบูรณาการปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานผ่านตัวชี้วัดในมิติที่หลากหลายเพื่อให้สะท้อนถึงการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างแท้จริง เช่น ผลการรายงานการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน การลดการใช้ทรัพยากร เช่น พลังงาน ก๊าซเรือนกระจก เงินกู้ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก และยอดการรวบหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ของครัวเรือน
ตัวชี้วัดสำหรับค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ธนาคารกำหนดค่าตอบแทนผันแปรของประธานเจ้าหน้าที่บริหารตามผลการดำเนินงานโดยพิจารณาจากตัวชี้วัดทางการเงินและตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น ROE, LCR, C/I, TSR, การลดการใช้พลังงาน ความพึงพอใจของลูกค้า จำนวนลูกค้าที่ใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัล และอัตราการลาออกของบุคลากร