external-popup-close

You are being redirected to

https://www.ttbbank.com/

Proceed

ttb analytics ชี้ธุรกิจโรงแรมปี 2566 ฟื้นตัวสู่ระดับสูงสุดก่อนโควิด-19 รายได้กว่า 3.1 แสนล้านบาท ด้วยแรงขับเคลื่อนของรายได้ในบริการเสริมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่

18 Jul 2023

ttb analytics ชี้ธุรกิจโรงแรมปี 2566 ฟื้นตัวสู่ระดับสูงสุดก่อนโควิด-19 รายได้กว่า 3.1 แสนล้านบาท ด้วยแรงขับเคลื่อนของรายได้ในบริการเสริมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics คาดปี 2566 กลุ่มธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวสมบูรณ์ผ่านจุดสูงสุดเดิม ด้วยมูลค่ามากกว่า 3.1 แสนล้านบาท ด้วยแรงหนุนของการขยายตัวในส่วนของรายได้ด้านบริการเสริมและการเพิ่มช่องทางรายได้ในธุรกิจใหม่ของกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีความได้เปรียบเชิงต้นทุนในหลากหลายมิติ พร้อมแนะโรงแรมขนาดเล็กและกลางเตรียมปรับกลยุทธ์เน้นตลาด Niche Market ที่มีการแข่งขันด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า

ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับภาคท่องเที่ยวอันเป็นอุตสาหกรรมหลักที่เคยสร้างเม็ดเงินสูงถึง 2.99 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 17.73% ของ GDP ในปี 2562 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่ส่งผลให้การท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงักลงอย่างกระทันหัน ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมชะลอตัวหนักจากรายได้ในปี 2562 ที่ 2.8 แสนล้านบาท ลดลงต่ำสุดในปี 2564 ที่ 0.96 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายธุรกิจโรงแรมเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในปี 2565 และในสถานการณ์การท่องเที่ยวปี 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นเป็น 29.5 ล้านคนจากปีก่อนที่ 11.2 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ประมาณการว่าจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 254.4 ล้านคน

 ทั้งนี้ ttb analytics จึงประเมินธุรกิจโรงแรมในปี 2566 ว่ามีการฟื้นตัวสู่ระดับสูงสุดก่อนสถานการณ์โควิด-19 ด้วยมูลค่า 3.1 แสนล้านบาทหรือสูงกว่ารายได้ในปี 2562 ถึง 11% หลังการเปิดประเทศในปีก่อนเป็นปัจจัยหนุนให้รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 45% โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มีสัดส่วนรายได้จากบริการที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้นทั้งจากธุรกิจในกลุ่มโรงแรม เช่น กลุ่มรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงรายได้ธุรกิจอื่นจากลักษณะธุรกิจแบบผสมผสาน (Mixed-Use Hotels) ส่งผลให้การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่เป็นไปในอัตราที่เร็วกว่าขนาดกลางและเล็ก โดยในปี 2566 รายได้ของโรงแรมขนาดใหญ่เพิ่มเป็นสัดส่วน 59% ของรายได้ทั้งหมดสูงขึ้นจากสัดส่วนที่ 55% ในปี 2562 ซึ่งทาง ttb analytics วิเคราะห์พบปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มีการฟื้นตัวที่ดีเกิดจากปัจจัยหลักดังนี้

1)   โครงสร้างอุปสงค์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน  ปกตินักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงาน โดยพบว่าเป็นกลุ่ม Gen Y ที่สูงถึง 17.5 ล้านคน และกลุ่ม Gen X จำนวน 12.2 ล้านคน โดย Gen X และ Gen Y ที่อยู่ในช่วงอายุ 29-58 ปี  เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมด้านการเงินเพียงพอในการตอบโจทย์ด้านการหาความสะดวกสบายในการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวในรูปแบบการพักผ่อน ส่งผลให้การเลือกที่พักของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen X และ Gen Y ตัดสินใจเลือกพักในกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ที่ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายได้มากกว่าเพิ่มสูงขึ้น

2)   ความได้เปรียบด้านต้นทุนในการบริการ (Economy of Scale) โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ท่องเที่ยวเริ่มกลับเป็นปกติ โรงแรมขนาดใหญ่สามารถรองรับผู้พักแรมได้จำนวนมาก ส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนราคาห้องพักต่อลูกค้าหนึ่งคนต่ำกว่าโรงแรมขนาดกลางและเล็ก และมีผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดใหญ่สามารถใช้พื้นที่ในการทำกำไรที่สูงกว่า เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการตลาดให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นได้ รวมถึงในประเด็นของงบการตลาดและประชาสัมพันธ์ที่ใช้จ่ายเพียงครั้งเดียวแต่ส่งผลดีต่อโรงแรมในเครือที่ตั้งอยู่ในแต่ละพื้นที่ทั้งหมด เป็นต้น

3)   ความได้เปรียบจากบริการที่หลากหลาย (Economy of Scope) เนื่องจากในโรงแรมขนาดใหญ่มีการบริการที่ครบวงจร (Full Services) และบริการเสริมพิเศษ(Complementary  Services) เช่น ภัตตาคารและร้านอาหาร บริการรถรับส่งจากสนามบิน บริการสปา ซึ่งการให้บริการในกลุ่มนี้สามารถใช้สินทรัพย์ของโรงแรมร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการอื่น ๆ นอกจากการพักอาศัยของผู้พักแรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลต่อต้นทุนในการบริการแต่ละประเภทที่ลดลง ทำให้การเสนอบริการเสริมพิเศษ(Complementary  Services) ให้กับผู้พักแรมสามารถทำได้ในราคาที่ได้รับส่วนลด เป็นการช่วยให้กลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในรูปแบบ On Demand ที่มีความยืดหยุ่นและผู้เข้าพักแรมสามารถปรับเพิ่มลดบริการเสริมให้ตอบโจทย์กับความต้องการได้เพิ่มมากขึ้น

4)   ความได้เปรียบจากธุรกิจอื่นที่มีความสัมพันธ์กัน (Conglomeration Economy) โดยปกติกลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มักมีธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นด้วย เช่น สปา ร้านอาหาร ธุรกิจแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ หรือ ห้างสรรพสินค้า ที่อาจใช้ประโยชน์จากธุรกิจอื่นผ่านรูปแบบสิทธิประโยชน์ เช่น บัตรกำนัลในการใช้บริการธุรกิจในเครือเดียวกัน นอกจากนี้ ความได้เปรียบจากธุรกิจอื่นยังอาจรวมถึงกลุ่มพันธมิตรทางการค้า (Partners) ที่ธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มีพันธมิตรทางการค้าที่เยอะกว่า โดยเฉพาะกับกลุ่มสถาบันการเงิน ที่ส่งผลให้ผู้พักแรมได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

เห็นได้ว่านับจากปี 2566 กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ได้เปรียบเรื่องอุปสงค์บนโครงสร้างอายุประชากรที่เอื้ออำนวย กอปรกับความได้เปรียบด้านต้นทุนจาก Economy of Scale, Economy of Scope และ Conglomeration Economy ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ได้เปรียบชัดเจนในการทำตลาด Mass Market โดย ttb analytics จึงแนะให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อจับตลาดกลุ่ม Niche Market ที่ความแข่งขันด้านต้นทุนต่ำกว่า โดยเน้นรูปแบบการให้บริการและลักษณะห้องพักให้มีเอกลักษณ์ตามกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และพยายามสร้างจุดเด่น โฟกัสกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงการประยุกต์นำเทคโนโลยีด้านข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลกลุ่มผู้เข้าพัก เพื่อวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของกลยุทธ์ที่ได้วางไว้เป็นระยะ รวมถึงใช้สื่อโซเชียลที่หลากหลายในทำกลยุทธ์การตลาดเพื่อตอบสนองกระแสของสังคมทั้งในรูปแบบ Fad และ Trend ที่ช่วยสร้างฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้นตามกระแสในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงควรใช้โอกาสจากการขยายระยะเวลากำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมออกไปถึงปี 2568 เร่งปรับมาตรฐานให้เหมาะสมเพียงพอสำหรับการยื่นขอใบอนุญาตประกอบการโรงแรมให้ทันตามระยะเวลาที่ได้ขยายไว้ เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีและความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย