โควิดคลัสเตอร์โรงงาน และการชะลอดีมานด์ตลาดอาเซียน เป็นปัจจัยท้าทายการส่งออก
ล่าสุด ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ยังคงพุ่งสูงส่วนหนึ่งมาจากคลัสเตอร์โรงงาน โดยพบการติดเชื้อปัจจุบันไม่เฉพาะแต่ในจังหวัดสีแดงเข้มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ด้วย จากข้อมูลล่าสุด Thai Stop Covid โดย กรมอนามัย ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 มีโรงงานติดเชื้อสะสมมากถึง 1,607 โรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 67% ซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก โดยเป็นทั้งโรงงานผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศและป้อนตลาดต่างประเทศ คลัสเตอร์โรงงานจึงเป็นคลัสเตอร์ใหญ่นอกเหนือไปจากแคมป์ก่อสร้าง ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสาคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยางพารา และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ซึ่งในประเทศไทยมีโรงงานใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้มากถึง 11,637 แห่ง มีแรงงาน 1.96 ล้านคน และมูลค่าตลาดต่อปีเท่ากับ 8.87 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนส่งออกกว่า 57% และจากการที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก เมื่อมีผู้ติดเชื้อจึงมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายสูง นำมาซึ่งการใช้มาตรการปิดโรงงานหยุดกระบวนการผลิตชั่วคราว โดย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าการปิดคลัสเตอร์โรงงาน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อควบคุมการระบาดจะก่อให้เกิดการสูญเสียมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 4% ของมูลค่าตลาด โดยอุปทานสินค้าป้อนตลาดจากโรงงานในอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ ยางพาราและพลาสติก จะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานเร็วที่สุด เพราะมีสินค้าคงคลังน้อยกว่าช่วงปกติ ดังนั้น หากไม่สามารถควบคุมการระบาดคลัสเตอร์โรงงานได้ ภาครัฐต้องมีการล็อกดาวน์โรงงานเพิ่มขึ้น หรือขยายระยะเวลาปิดโรงงานออกไป คาดว่าจะทำให้ปัญหา Supply Disruption ชัดเจนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการฟื้นเศรษฐกิจครั้งนี้
Suggest Keywords