มาทำความรู้จักกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ "Thailand ESG Fund (ThaiESG)" ทางเลือกการลงทุน พร้อมสิทธิประโยชน์ด้านภาษี
เข้าสู่ช่วงเทศกาลลดหย่อนภาษีของปี หลายๆ คน คงกำลังมองหากองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีประจำปี และเตรียมจัดสรรเงินลงทุนกัน แต่ก่อนจะเริ่มลงทุน เรามาทำความรู้จักกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) หรือ “ThaiESG” ที่ผู้มีเงินได้สามารถนำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ เริ่มปี 2566 นี้
1. กองทุน “ThaiESG” คืออะไร มีเงื่อนไขการลงทุนอย่างไร
"กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน" หรือ "Thailand ESG Fund (ThaiESG)" คือ กองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลักการคล้ายการจัดตั้งกองทุน SSF, RMF หรือ LTF ที่เคยออกมาในอดีต โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงให้ การลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (ThailESG) สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้นๆ และต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575 และในปี 2567 ได้มีการปรับเงื่อนไขใหม่ เป็นสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 300,000 บาท โดยต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มลงทุน
2. กองทุน “ThaiESG” มีนโยบายการลงทุนอย่างไร
กองทุน ThaiESG สามารถลงทุนในหุ้นไทย และตราสารหนี้ไทย ที่มีการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน คำนึงถึงปัจจัย ESG ซึ่ง ย่อมาจาก Environment (E) สิ่งแวดล้อม, Social (S) สังคม และ Governance (G) ธรรมาภิบาล เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดทุนไทย และสนับสนุนภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับหลัก ESG มากขึ้น
จริงๆแล้ว การลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainability Investment) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการลงทุนที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับโลกและประเทศไทย เนื่องจากนักลงทุนมองว่า บริษัทที่ดำเนินกิจการโดยให้ความสำคัญกับปัจจัย ESG เหล่านี้ อาจมีการบริหารจัดการความเสี่ยง หรือ ผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทำให้การเติบโตของผลประกอบการและกำไรมีความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะส่งผลบวกต่อมูลค่าสินทรัพย์ของภาคธุรกิจและมูลค่าเงินลงทุนนั่นเอง
สำหรับประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย (SET) ได้มีการจัดทำดัชนีหุ้นยั่งยืนที่เรียกว่า SET ESG Ratings โดยประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ล่าสุดในปี 2566 ประกอบด้วย บริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือก 193 บริษัท มูลค่าตลาดรวม (Market capitalization) ณ 1 พ.ย.66 รวม 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของตลาด แบ่งเป็น
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ AAA มีจำนวนทั้งสิ้น 34 บริษัท
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ AA มีจำนวนทั้งสิ้น 70 บริษัท
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ A มีจำนวนทั้งสิ้น 64 บริษัท
- บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในระดับ BBB มีจำนวนทั้งสิ้น 25 บริษัท
หากพิจารณาในมุมผลตอบแทนของดัชนี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดัชนี SET ESG มีผลตอบแทนที่น่าสนใจ โดยสามารถสร้างผลตอบแทนรวม ที่ 15.08% หรือคิดเป็น 4.8% ต่อปี สูงกว่าดัชนีตลาดทั่วไป หรือ SET Index ที่มีผลตอบแทนรวมที่ 9.31% หรือคิดเป็น 3.01% ต่อปี
ที่มา Bloomberg, ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566
นอกจากหุ้นไทยแล้ว นโยบายการลงทุนกองทุน THAIESG สามารถเปิดให้ลงทุนในตราสารหนี้ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน หรือ ESG Bond ได้ ซึ่ง ESG Bond นี้จะมีลักษณะคล้ายกับตราสารหนี้ทั่วไป แต่ต่างกันที่วัตถุประสงค์ของการระดมทุนที่มุ่งนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในโครงการที่สอดคล้องกับแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน มีการออกทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดย ESG Bond ในไทยก็เป็นอีกสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันตลาดการออก ESG Bond ในไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายังคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด โดยในปี 2565 มีมูลค่ารวม 219,494 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5% ของมูลค่าตราสารหนี้ที่เสนอขายทั้งปี แต่อัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับมูลค่าการออกในปี 2562 ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดทั้งฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนเริ่มให้ความสนใจสินทรัพย์กลุ่มนี้มากขึ้น และเราเชื่อว่า การเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ ESG ผ่านกองทุน Thai ESG น่าจะสร้างความตระหนักและตื่นตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย
3. ความแตกต่างจากกองทุนลดหย่อนภาษี ระหว่าง ThaiESG กับ RMF และ SSF
แม้ว่ากองทุน Thailand ESG Fund (ThaiESG) เป็นกองทุนสำหรับผู้มีเงินได้ลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกัน กับ กองทุนประเภท RMF SSF แต่มีความแตกต่างกันใน นโยบายการลงทุนและเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี ผู้ลงทุนจึงควรทำความเข้าใจกองทุนแต่ละประเภท และพิจารณาจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายของตนเองก่อนลงทุน สรุปความแตกต่างได้ดังตาราง
หัวข้อ | RMF (Retirement Mutual Fund) |
SSF (Super Saving Fund) |
ThaiESG (Thailand ESG Fund) |
---|---|---|---|
นโยบายการลงทุน | ลงทุนได้หลากหลายสินทรัพย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ | ลงทุนได้หลากหลายสินทรัพย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ | หุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย ที่เข้าหลักเกณฑ์ ESG |
ระยะเวลาการลงทุน | ต้องถือจนถึงอายุ 55 ปี และครบ 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปีหรือปีเว้นปี | 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ | 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ |
สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงื่อนไข | ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ | ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท | ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 300,000 บาท (ไม่รวมในวงเงิน 500,000 บาท เดิม) |
ปีที่ใช้สิทธิลดหย่อน | ปี 2563 เป็นต้นไป | ปี 2563-2567 | ปี 2567 - 2569 |
*กรอบ 500,000 บาท รวมการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนการออมแห่งชาติ
ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
โดยหากมองว่า การลงทุนในกองทุน ThaiESG จะเหมาะกับใครนั้น เราอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว เพื่อให้เงินเติบโตและเห็นโอกาสจากการลงทุนในธุรกิจในประเทศไทย ที่คำนึงถึง ESG
2. ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุน แต่ไม่อยากลงทุนนานถึง 10 ปี เพราะเมื่อเทียบกับ SSF ต้องลงทุน 10 ปีเต็มจึงจะขายได้ ขณะที่ การลงทุนใน RMF จะขายหน่วยลงทุนได้เมื่อผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปี (โดยเฉพาะผู้ที่ปัจจุบันมีอายุ น้อยกว่า 45 ปี)
3. ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากกรอบการลงทุนเพื่อการเกษียณเดิม 500,000 บาท เช่น ผู้มีฐานภาษีสูงกว่า 20% เนื่องจากกรอบ 100,000 บาทสำหรับ Thai ESG สามารถลดหย่อนเพิ่มเติมได้ ไม่นับรวมกับวงเงินในกลุ่มเพื่อการประหยัดภาษีอื่นๆ
4. มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ของ ttb Investment Office จังหวะนี้น่าลงทุนหรือยัง
ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยในประเทศและนอกประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะและเสถียรภาพทางการคลัง ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง อย่างไรก็ตาม ttb Investment Office มองว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงรับข่าวร้ายไปมากแล้ว ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เติบโตได้ตามคาด ประกอบกับทางการไทยได้เข้ามาดูแลเรื่อง Short Sell ในตลาดหุ้นมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น แรงซื้อจึงเริ่มกลับมา
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นมีโอกาสตอบรับข่าวในเชิงบวกมากกว่า ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐบาล มาตรการช่วยเหลือตลาดทุนอย่างเช่น การจัดตั้งกองทุน Thailand ESG Fund
เราจึงมีมุมมองที่ Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือน ธ.ค. และแนะนำให้นักลงทุน ทยอยสะสม กองทุนหุ้นไทยได้
ทั้งนี้ สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ ThaiESG
เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี 2567 พร้อมสร้างโอกาสให้ผลตอบแทนเติบโตอย่างยั่งยืน
ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีของไทย ทีทีบีคัดมาให้แล้วถึง 3 กองทุน ได้แก่
- กองทุนเปิดอีสท์สปริง SETESG ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนสะสมมูลค่า (ES -SETESG -THAIESG –A) ความเสี่ยงระดับ 6
เน้นลงทุนในหุ้น โดยใช้กลยุทธ์การ บริหารกองทุนเชิงรับ (Passive management strategy) เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี SET ESG Index มุ่งหวังให้ได้รับผลประกอบการเคลื่อนไหวตามดัชนีชี้วัด - กองทุนเปิดอีสท์สปริง SETESG ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนจ่ายเงินปันผล (ES -SETESG -THAIESG – D) ความเสี่ยงระดับ 6
เน้นลงทุนในหุ้น โดยใช้กลยุทธ์การ บริหารกองทุนเชิงรับ (Passive management strategy) เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี SET ESG Index มุ่งหวังให้ได้รับผลประกอบการเคลื่อนไหวตามดัชนีชี้วัด และมีนโยบายจ่ายปันผลไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี - กองทุนเปิด ยูไนเต็ด หุ้นไทย ซัสเทนเนเบิล (UTSEQ-THAIESG) ความเสี่ยงระดับ 6
เน้นลงทุนในตราสารทุนของผู้ออกหลักทรัพย์ที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนจากองค์กร หรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ โดยใช้กลยุทธ์การ บริหารกองทุนเชิงรุก (Active management strategy)
สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ช่วง IPO และอีกครั้งหลังช่วง IPO เป็นต้นไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ทีทีบี ทุกสาขา หรือที่ปรึกษาทางการเงินของท่าน หรือ ttb Investment Line โทร. 1428 กด # 4 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9:00 – 17:30 น. (ยกเว้นวันหยุดธนาคาร)
คำเตือน : ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด ที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือโดยทางอื่นใด ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน /ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต /ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน / ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวน โดยเฉพาะนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน / ผู้ลงทุนมีความจำเป็นในการขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน /กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศและไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรืออาจได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้