ทีเอ็มบีธนชาต รายงานกำไรสุทธิปี 2565 ที่ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อน ปัจจัยหนุนมาจากทั้งด้านรายได้ ประสิทธิภาพด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกค้าอย่างเหมาะสม หนุนสถานะทางการเงินแข็งแกร่ง พร้อมสำหรับการเติบโตในปี 2566
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 และรอบ 12 เดือน ปี 2565 โดยผลการดำเนินงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ 3,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากปีที่แล้ว รวม 12 เดือน ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปี 2564 ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังดูแลได้ดี โดยอัตราส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 2.73% ลดลงจากปีที่แล้วและต่ำกว่ากรอบที่วางไว้
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2565 นี้ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกไตรมาส ถือว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดจาก Strategy และ Execution นั่นคือ การวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมและสามารถทำได้จริงตามแผนที่วางไว้ โดยกลยุทธ์ที่เรามุ่งเน้นมาตลอด ได้แก่ การเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ที่สำคัญคือการดูแลลูกค้าในเชิงรุกและให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเหมาะสม จึงส่งผลให้ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางสามารถปรับตัวผ่านช่วงที่ยากลำบากและมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้พอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพดี หนี้เสียลดลง และทำให้ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในท้ายที่สุด เป็นปัจจัยหนุนผลกำไรและสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งกลยุทธ์หลักในปี 2565 ได้แก่ การเตรียมความพร้อมสำหรับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยธนาคารสามารถบริหารงบดุล (Balance Sheet Management) ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการดำเนินการหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเงินฝาก ด้วยการทยอยเพิ่มเงินฝากประจำเพื่อล็อกต้นทุนเงินฝากและขยายฐานเงินฝากล่วงหน้าในการรองรับแผนการเติบโตสินเชื่อในปี 2566 ในด้านการลงทุนธนาคารได้ปรับพอร์ตให้มีระยะเวลาลงทุนสั้นลงเพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และเนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารดำรงเงินกองทุนในระดับสูงมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อมองเห็นโอกาสในตลาดตราสารหนี้ จึงได้ทำการซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ AT1 กลับมาบางส่วน ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามแผนการบริหารส่วนทุน (Capital Management) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ธนาคารยังได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาซื้อคืนอีกด้วย
ท้ายสุดในส่วนของแผนงานหลังการรวมกิจการ ธนาคารสามารถทำได้ตามแผนเช่นกัน เริ่มจากการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจและจัดตั้งบริษัท ทีทีบี คอนซูมเมอร์ การเปิดตัวแอปพลิเคชัน ttb touch รวมไปถึงการลงทุนและพัฒนาด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรับรู้ Revenue Synergy ด้านการรับรู้ Balance Sheet Synergy และ Cost Synergy นั้นทำได้ดีกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ ธนาคารได้ส่งผ่านผลประโยชน์จากการรวมกิจการกลับคืนไปยังผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในปี 2565 ธนาคารได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและออกวอร์แรนท์ TTB-W1 ให้กับผู้ถือหุ้นโดยไม่คิดมูลค่า
จากการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาผนวกกับสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ธนาคารพร้อมที่จะเดินหน้าสร้างรายได้และการเติบโตต่อไปในปี 2566 เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้น ควบคู่ไปกับการนำเสนอโซลูชันทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าของเราในการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นทั้งวันนี้ และอนาคต
สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงานหลักในปี 2565 มีดังนี้
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 เงินฝากอยู่ที่ 1,399 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% จากไตรมาสก่อน (QoQ) และ 4.5% จากปี 2564 (YTD) หนุนโดยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านเงินฝากเพื่อรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตสินเชื่อในปี 2566 ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 1,376 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.3% QoQ เนื่องจากมีการชำระหนี้คืนจากลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ แต่ทั้งปียังคงเพิ่มขึ้น 0.4% YTD ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวัง โดยเน้นสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
ในส่วนของรายได้นั้นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 4 อยู่ที่ 13,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% QoQ หนุนโดยการเติบโตสินเชื่อรายย่อยและการบริหารต้นทุนทางการเงินหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 4,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% QoQ จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรู้ผลตอบแทนจากการซื้อคืนตราสารหนี้ AT1 ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 4 อยู่ที่ 17,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% QoQ
รวม 12 เดือน ปี 2565 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 65,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากปีก่อนหน้า (YoY) ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานอยู่ที่ 29,952 ล้านบาท ลดลง 4.1% YoY สะท้อนถึงการรับรู้ Cost Synergy และการมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในปี 2565 อยู่ที่ 45% ลดลงจาก 48% ในปี 2564 ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ PPOP อยู่ที่ 36,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% YoY ด้านค่าใช้จ่ายสำรองฯ อยู่ที่ 18,353 ล้านบาท ลดลง 14.7% จากปีที่แล้ว เมื่อหักค่าใช้จ่ายสำรองฯ และภาษี จึงทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5% YoY
ทั้งนี้ การตั้งสำรองฯ ที่ลดลงเป็นผลจากการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร รวมไปถึงการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ธนาคารสามารถควบคุมและลดสัดส่วนหนี้เสียลงมาได้อย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ 2.98% ในไตรมาส 3/64 มาอยู่ที่ 2.81% ณ สิ้นปี 2564 และ 2.73% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่ากรอบควบคุมและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
ท้ายสุดด้านความเพียงพอของเงินกองทุน ยังอยู่ในระดับสูงและเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 (เบื้องต้น) ณ สิ้นปี 2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.0% และ 16.3% เทียบกับ 19.3% และ 15.3% ณ สิ้นปี 2564 และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ