ทีเอ็มบีธนชาต ยกระดับองค์กร มุ่งสู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืนด้านสังคม
ได้รับเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศของบลูมเบิร์ก ปี 2566 ติดต่อเป็นปีที่ 2
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ตามหลัก ESG เดินหน้ายกระดับความยั่งยืนด้านสังคม สร้างองค์กรแข็งแกร่ง ผ่านวัฒนธรรมที่เปิดกว้างให้ความสำคัญกับความเห็นที่แตกต่างและปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศของบลูมเบิร์ก (Bloomberg Gender-Equality Index - GEI) ในปี 2566 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 75.68% โดดเด่นด้วยคะแนนด้านการเปิดเผยข้อมูลสูงสุดถึง 97.1% และคะแนนความเป็นเลิศด้านข้อมูลที่ 66.5% สะท้อนนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมที่ชัดเจนและการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส
นางประภาศิริ โฆษิตธนากร ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินและทรัพยากรบุคคล ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีธนชาตมุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืน ตามหลัก ESG เพราะเชื่อว่าเรื่องความยั่งยืนกับการดำเนินธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งการพัฒนาบริหารทรัพยากรบุคคลถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างองค์กรให้แข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง ให้ความสำคัญกับความเห็นที่แตกต่างและปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติ (Respect) โดยมีนโยบายส่งเสริมความเสมอภาคที่ชัดเจนและการบริหารความหลากหลาย อาทิ เพศ อายุ การศึกษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม ที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเคารพสิทธิมนุษยชน สะท้อนได้จากการประเมินในปี 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารมีจำนวนพนักงานเป็นผู้หญิง 68.4% โดยมีอัตราส่วนผู้หญิงในระดับผู้บริหารถึง 55.0% และมีพนักงานผู้หญิงในระดับปฏิบัติการ 69.8% ของพนักงานทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีพนักงานหญิงในหน่วยงานเกี่ยวกับ STEM หรือ ด้าน Science, Technology, Engineering และ Mathematics คิดเป็น 43.5%
ความชัดเจนของนโยบายการดำเนินงานที่เปิดกว้างและส่งเสริมความเท่าเทียมของพนักงานทำให้ทีเอ็มบีธนชาตได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศของบลูมเบิร์ก ปี 2566 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ได้รับคะแนน (GEI Score) อยู่ที่ 75.68% เพิ่มขึ้นจาก 67.56% ในปี 2565 โดดเด่นด้วยคะแนนด้านการเปิดเผยข้อมูลสูงถึง 97.1% และได้คะแนนความเป็นเลิศด้านข้อมูลที่ 66.5% จากตัวชี้วัด 5 ด้าน ได้แก่ ความเป็นผู้นำของผู้หญิงและการสร้างพนักงานที่มีความสามารถโดดเด่น ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเท่าเทียม วัฒนธรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วม นโยบายต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ และการเป็นแบรนด์ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ สะท้อนความมุ่งมั่นของธนาคารในการรายงานถึงความโปร่งใสในด้านความเสมอภาคทางเพศ
ทั้งนี้ ดัชนีวัดความเสมอภาพทางเพศของบลูมเบิร์ก ปี 2566 มีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกจำนวน 484 บริษัท ครอบคลุมกว่า 54 อุตสาหกรรมใน 45 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจากบริษัทมหาชนที่เปิดเผยข้อมูลด้านการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศที่ครอบคลุมข้อมูลทางสถิติของบริษัท นโยบาย การมีส่วนร่วมของชุมชน ผลิตภัณฑ์และบริการ
“ภายใต้การประกาศเจตนารมย์ที่จะเป็น The Bank of Financial Well-being หรือธนาคารที่มุ่งมั่นในการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ผ่านการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ยุคดิจิทัลและสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อลูกค้า ธนาคารเชื่อว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจ จึงมุ่งสร้างให้บุคลากรของเราพร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์และดีที่สุด” นางประภาศิริ กล่าวสรุป