ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เผยความมั่นคงทางอาหารของไทยรั้งอันดับที่ 51 ของโลก โดยมี “จุดแข็ง” ในด้านการหาซื้อง่ายและอุปทานการผลิตมีความยืดหยุ่น ด้าน “จุดอ่อน” คือ ขาดการสนับสนุนขยายการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นแหล่งอาหารในระยะยาว และขาดความหลากหลายของโภชนาการอาหาร ชี้ระยะ 1-2 ปี อุปทานยังมีพอแต่ห่วงราคาอาหารปรับสูง พร้อมแนะบริหารอุปทานอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและราคาที่ประชาชนรับได้ ที่เหลือสร้างมาตรฐาน เร่งส่งออกทำรายได้เข้าประเทศ
ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ให้คำนิยาม “ความมั่นคงทางอาหาร” อันประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) 2. การเข้าถึงอาหาร (Food Access) 3. การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) และ 4. การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability) สำหรับไทยให้คำนิยาม “ความมั่นคงทางอาหาร” ไว้อย่างสอดคล้องกัน กล่าวคือ “การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม ตามความต้องการตามวัย เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี รวมทั้งการมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติของประเทศ ทั้งในภาวะปกติ หรือเกิดภัยพิบัติ สาธารณภัย หรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากอาหาร”
ท่ามกลางความกังวลของโลกเกี่ยวกับความไม่พอเพียงของอาหาร ทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจาก 1) ภาวะความตึงเครียดสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่อเค้ายืดเยื้อ 2) ราคาวัตถุดิบการผลิตอาหารปรับสูงขึ้น ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์ 3) ค่าการขนส่งสินค้าของโลกราคาสูงขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก ภายหลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ในขณะที่ธุรกิจเดินเรือสินค้า มีตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ท่าเรือยังไม่พร้อมให้บริการ 4) การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้ผลผลิตอาหารไม่พอเพียง ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลต่อความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร นับเป็นความท้าทายที่ไทยต้องตระหนักอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้ทำการศึกษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหารในลำดับโลก และความเพียงพอของอาหารที่ผลิตในไทย รวมถึงนำเสนอแนวทางการรับมือกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างยั่งยืน
ความมั่นคงทางอาหารของไทยรั้งอันดับที่ 51 ของโลก
จากข้อมูลของ The Economist Intelligence Unit พบว่า ดัชนีความมั่นคงทางด้านอาหาร (Global Food Security Index: GFSI) ในปี 2021 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 ของโลกจากทั้งหมด 113 ประเทศ ซึ่งหากพิจารณาความมั่นคงทางอาหารที่ประเมินใน 4 องค์ประกอบหลัก จะพบว่าความมั่นคงทางอาหารของไทยที่ทำได้ในระดับเฉลี่ยมี 2 องค์ประกอบ คือ ประชาชนสามารถในการหาซื้ออาหารได้ง่าย (Affordability) และทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอาหารค่อนข้างมีความยืดหยุ่น (Natural Resources and Resilience) เมื่อพบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างฉับพลัน โดยอยู่ในลำดับที่ 40 และ 50 ของโลก ขณะที่ 2 องค์ประกอบที่นับเป็นจุดอ่อนความมั่นคงทางอาหารของไทย คือ ความพร้อมและความพอเพียงด้านอาหาร (Availability) และคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety) ซึ่งอยู่ในระดับที่ 59 และ 73 ของโลก โดยความพร้อมและความพอเพียงด้านอาหารของไทยยังขาดการสนับสนุนการขยายการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นแหล่งอาหารในระยะยาว ซึ่งหากไม่สนับสนุนอย่างต่อเนื่องอาจทำให้อุปทานอาหารเกิดการชะงักได้ในอนาคต ส่วนคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือ อาหารไทยต้องความหลากหลายทางโภชนาการมากขึ้น รวมถึงต้องเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล ทั้ง 2 องค์ประกอบเป็นจุดอ่อนที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อยกระดับ “ความมั่นคงทางด้านอาหาร” ของประเทศในระยะต่อไป
ความมั่นคงทางอาหารของไทย “ปริมาณการผลิตยังไม่น่าห่วง...แต่เสี่ยงราคาสูง”
ttb analytics ทำการศึกษา 5 อาหารหลักของไทย ได้แก่ หมู น้ำมันปาล์ม ไก่ ข้าว และน้ำตาล ว่ามีเพียงพอต่อตลาดในประเทศหรือไม่ โดยใช้เกณฑ์วัดจากเปอร์เซ็นต์สัดส่วนการบริโภคในประเทศต่อปริมาณการผลิตในประเทศ พบว่า “5 อาหารหลักที่คนไทยนิยมบริโภค ปริมาณการผลิตยังมีเพียงพอสำหรับการบริโภค โดยมีสัดส่วนการบริโภคต่อปริมาณการผลิตของ หมู น้ำมันปาล์ม ไก่ ข้าว และน้ำตาล อยู่ที่ 92% 73% 68% 65% และ 24% ตามลำดับ” แต่ปัจจัยที่น่ากังวลคือ ราคาอาหารโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างอิงจากข้อมูลดัชนีราคาอาหารของโลกจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า ในช่วงระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ปี 2000-2022) ราคาอาหารของโลกปรับเพิ่มขึ้นสะสมกว่า 127% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.8% ต่อปี) โดยหมวดอาหารที่ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 22 ปี คือ น้ำมันพืชปรับเพิ่มขึ้นสะสม 225% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.2%ต่อปี) รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์นมปรับเพิ่มสะสม 151% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.9% ต่อปี) ธัญพืชปรับเพิ่มขึ้นสะสม 148% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.7% ต่อปี) น้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นสะสม 141% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.4% ต่อปี) และเนื้อสัตว์ปรับเพิ่มขึ้นสะสม 77% (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปี)
แม้ว่าปริมาณการผลิตในประเทศใน 5 อาหารหลักของคนไทยจะมีเพียงพอ แต่การที่ราคาอาหารโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ย่อมเป็นแรงกดดันทำให้ราคาอาหารในประเทศสูงขึ้น ttb analytics จึงประเมินว่าปัจจัยความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาวัตถุดิบการผลิตอาหารและค่าขนส่งสินค้าของโลกเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะยังคงเป็นแรงกดดันในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า โดยจะทำให้ราคาอาหารของโลกปรับสูงขึ้นและจะส่งผ่านมายังราคาอาหารในประเทศให้ปรับสูงขึ้นตามด้วย ถึงแม้แรงกดดันด้านอุปทานอาหารขาดแคลนในประเทศจะมีไม่มากนัก เนื่องจากอาหารส่วนใหญ่ไทยจะผลิตเองได้ แต่แรงกดดันด้านราคาอาหารโลกที่ปรับสูงขึ้นจะก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารในไทยได้ เป็นความท้าทายที่ไทยต้องยก “ความมั่นคงทางอาหารให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายการบริหารประเทศ” อย่างบูรณาการ
บริหารอุปทานอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศด้วยราคาที่ประชาชนรับได้ ส่วนเกินจึงเน้นส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศ
การบริหาร “ความมั่นคงทางด้านอาหาร” อย่างยั่งยืน ต้องคำนึงถึง 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1) ปริมาณการผลิตอาหารต้องเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศด้วยราคาที่ประชาชนรับได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการกำหนดเป้าหมายปริมาณการผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และส่งสัญญาณให้เกษตรกรผู้ผลิตต้นน้ำได้วางแผนการผลิตล่วงหน้าอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตส่วนเกินหรือขาดมากเกินไป เนื่องจากเหล่านี้จะส่งผลต่อราคาอาหารได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่หากราคาอาหารพุ่งสูงอันเกิดจากราคาอาหารโลกปรับเพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ภาครัฐควรเข้าควบคุมราคาอาหารในประเทศไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งอาจต้องใช้มาตรการจำกัดโควต้าการส่งออก เพื่อไม่ให้อาหารในประเทศขาดแคลน ทำให้ราคาอาหารในประเทศปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก
2) ปริมาณการผลิตอาหารส่วนที่เกิน เน้นส่งออกด้วยมาตรฐานระดับสากล เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ จากการที่ทุกประเทศต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น อาหารชนิดใดที่ประเทศของตนพอจะผลิตได้เอง ภาครัฐจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศผลิต เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และอาจพิจารณาใช้มาตรการกีดกัน ไม่ให้สินค้าอาหารประเทศอื่น ๆ เข้าไปแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารไทยที่มีความสามารถในการผลิต จำเป็นต้องเร่งพัฒนาอาหารให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อลดผลกระทบจากการกีดกันทางการค้า สร้างโอกาสการส่งออกอาหาร และนำรายได้เข้าสู่ประเทศ
ดังนั้น จะเห็นว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นประเด็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญ ซึ่งการจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นผู้นำ ภาครัฐเป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวก การร่วมมือกันนี้จะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหารได้อย่างยั่งยืน...