external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

4 พฤติกรรมที่ทำให้ประกันที่มีอยู่ คุ้มครองแต่อาจไม่ครอบคลุม

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #ttbประกันที่พอดีกับชีวิต
18 พ.ย. 2564

  • สำรวจ 4 พฤติกรรมของการซื้อประกันที่ทำให้ได้รับความคุ้มครองที่ไม่ครอบคลุม
  • ประกันที่พอดี ต้องตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตในแต่ละช่วงวัย ดูแลคุณครบทุกด้าน ทั้งสุขภาพ ออมเกษียณ และดูแลคนข้างหลัง
  • ชวนคุณมาค้นหาระดับความพอดีของประกันที่คุณมีอยู่ เพื่อให้คุณอุ่นใจได้ทั้งวันนี้และอนาคต

 

เคยไหม ? ซื้อประกันทิ้งไว้ แล้วไม่ได้กลับมาดูความคุ้มครอง ไม่รู้ว่าประกันที่ทำไว้ช่วยดูแลคุณในด้านไหนบ้าง ครอบคลุมเรื่องสุขภาพแล้วหรือยัง ช่วยเรื่องเงินออมสำหรับเกษียณไหม หรือจะจ่ายเงินชดเชยเพื่อดูแลคนข้างหลังได้เพียงพอหรือไม่ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราได้รับผลประโยชน์จากประกันที่ทำไว้ไม่ตรงตามความต้องการ โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่เราจำเป็นจะต้องใช้ผลประโยชน์จากประกันขึ้นมาจริง ๆ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ประกันที่คุณมี ให้ความคุ้มครองได้ครบและพอดีกับทุกด้านของชีวิตคุณแล้วหรือยัง

ttb ชวนทุกคนมาสำรวจ 4 พฤติกรรมที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ซึ่งคุณเองก็อาจเป็นอีกคนที่มีประกันที่ไม่พอดีกับชีวิตของคุณก็ได้

4 พฤติกรรมการซื้อประกันที่ให้ความคุ้มครอง แต่อาจไม่ครอบคลุม

 

1. ซื้อประกันตั้งใจไว้ลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ดูรายละเอียดความคุ้มครองว่าพอดีกับตัวเองไหม

เชื่อว่าจุดมุ่งหมายในการเริ่มต้นซื้อประกันของคนวัยทำงานหลายคน คือการลดหย่อนภาษี เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่รู้อยู่แล้วว่าทุกสิ้นปีจะต้องเสียภาษี ซึ่งแตกต่างจากการซื้อประกันเพื่อคุ้มครองสุขภาพที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะป่วย และได้ใช้ความคุ้มครองนี้

หลายคนจึงเลือกซื้อประกัน โดยดูแค่ค่าเบี้ยประกันภัยที่ต้องการจะใช้ลดหย่อนภาษีแต่ลืมดูรายละเอียดความคุ้มครองว่าครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคุ้มครองชีวิต สุขภาพ หรือต้องการเงินคืนหลังเกษียณ หรือบางคนตั้งใจที่จะใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนในปีนี้มากเกินไป จนลืมนึกถึงในอนาคตว่า จะยังสามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยต่อเนื่องไปอีกหลายปีได้หรือไม่ (ประกันชีวิตหรือประกันบำนาญส่วนใหญ่ จะต้องมีการจ่ายค่าเบี้ยประกันหลายปี)

ดังนั้น นอกจากที่คุณจะคำนวณรายได้ เพื่อให้ทราบถึงฐานภาษีของคุณแล้ว อยากให้คุณนึกถึงความคุ้มครองที่คุณต้องการ และอย่าลืมประเมินความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคต จะทำให้คุณสามารถใช้สิทธิ์ทั้งให้แง่ของการลดหย่อนภาษีและความคุ้มครองตามเงื่อนไขของประกันได้ครบถ้วน เพื่อให้คุณได้รับความคุ้มครองที่แท้จริงของประกันฉบับนี้

สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี

 

2. ซื้อประกันไว้หลายฉบับเป็นเรื่องดี แต่แน่ใจไหมว่าพอดีแล้ว

การซื้อประกันเผื่อไว้หลายฉบับถือเป็นเรื่องที่ดี หากเรามีการศึกษาข้อมูลของทุกกรมธรรม์อย่างละเอียด ว่าตรงกับความต้องการของเราจริง ๆ หรือไม่ เพราะประกัน คือตัวช่วยสำคัญในการปิดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่บางทีประกันหลายฉบับที่มีอาจจะไม่พอดีกับชีวิตก็ได้

ประกันไม่พอดีเพราะมีมากเกินไป ให้ความคุ้มครองที่มากเกินความจำเป็น เช่น ประกันสุขภาพที่คุ้มครองถึงหลายร้อยล้านบาท เป็นต้น ซึ่งก็มาพร้อมกับค่าเบี้ยประกันที่สูงมาก ทำให้คุณอาจจะเหนื่อยเกินไปในการหาเงินมาจ่ายค่าเบี้ยประกัน หรือบางทีคุณอาจนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนแบบอื่น ก็อาจทำให้ได้ผลประโยชน์ที่มากขึ้นได้

ประกันไม่พอดีเพราะมีน้อยไป ทำให้ได้รับความคุ้มครองน้อยเกินไป ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ซื้อประกันโรคร้ายแรงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพ พอเจ็บป่วยต้องไปหาหมอ ก็เบิกค่ารักษาไม่ได้ เป็นต้น

เพราะฉะนั้นควรสำรวจตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อประกันว่า ชีวิตในวันนี้ยังขาดความคุ้มครองเรื่องใดอยู่บ้าง เพื่อที่จะเติมเต็มและปิดความเสี่ยงให้ครบทุกด้าน และยังคุ้มค่ากับเงินของคุณ

 

3. ทำประกันเพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ แต่เพิ่งมารู้ว่า เงินที่จะได้หลังเกษียณไม่พอใช้

การเตรียมพร้อมในวัยเกษียณเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับเกษียณ บางคนคิดว่าได้เตรียมความพร้อมหลังเกษียณด้วยการซื้อประกันแล้ว ก็อาจซื้อประกันไม่ตรงกับความต้องการจริง ๆ ก็ได้ เช่น ซื้อประกันสะสมทรัพย์ที่ให้ความคุ้มครอง 10 ปี โดยลืมคิดไปว่าจะได้เงินคืนก่อนวัยเกษียณ ก็อาจใช้เงินหมดก่อนเกษียณจริง ๆ ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่วิเคราะห์ได้ว่า มีคนไทยที่ออมเงินสำหรับเกษียณถึง 92.6% ไม่มั่นใจว่าจะมีเงินพอใช้เมื่อเกษียณ

เราจึงควรเตรียมความพร้อมให้พอดีกับชีวิตในวัยเกษียณ หากเราเตรียมตัวตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะช่วยให้เรามีเวลาในการวางแผนชีวิตวัยเกษียณและออมเงินได้นานขึ้น หรือบางคนที่มีการวางแผนเกษียณแล้ว ก็ควรลองสำรวจตัวเองดูอีกครั้ง ว่าคุณจะมีเงินใช้ในวัยเกษียณมากพอตามที่คุณตั้งใจไว้แล้วหรือยัง

 

4. ทำประกันไว้เพื่อครอบครัว แต่เพิ่งรู้ว่า ถ้าเราจากไป เงินที่ได้ไม่พอดูแลคนที่เรารัก

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)พบว่า 56% ของประกันชีวิตในไทยเป็นแบบสะสมทรัพย์ โดยประกันสะสมทรัพย์เป็นประกันที่เอาไว้เก็บเงิน จะให้ผลตอบแทนเป็นเงินก้อนเมื่ออยู่ครบสัญญา แต่ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจะไม่สูงมากนัก ต่างจากประกันที่เน้นความคุ้มครองชีวิต ที่อาจจะไม่มีผลตอบแทนเมื่อครบสัญญา แต่หากเกิดเหตุไม่คาดฝันระหว่างสัญญา คนที่คุณรักจะได้รับเงินก้อนใหญ่ที่จะช่วยดูแลพวกเขาแทนเราได้ (ตามเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์)

ลองอ่านทำความเข้าใจรายละเอียดของประกันที่คุณมีอีกครั้ง เพื่อดูว่าหากวันนี้เกิดเหตุไม่คาดฝันต้องจากไปแบบกะทันหัน เงินที่ได้จากประกัน จะสามารถจ่ายภาระหนี้ของเราได้หมดไหม แล้วสามารถดูแลลูก ดูแลครอบครัวที่เรารักได้พอดีตามที่เราตั้งใจไว้แล้วหรือเปล่า

พื้นฐานชีวิตที่เปลี่ยนไป

มาถึงตรงนี้ เราชวนให้ทุกคนกลับไปสำรวจประกันที่มีอยู่ ว่าตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตได้พอดีแล้วหรือยัง

“ความพอดี” ในวันนี้ อาจแตกต่างจาก “ความพอดี” เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะพื้นฐานชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น สุขภาพไม่ฟิตเหมือนเก่า จากที่ไม่เคยมีประกันสุขภาพอาจจะต้องมองหาเพิ่ม หรือจากที่เคยใช้ชีวิตตัวคนเดียว วันนี้มีลูก มีครอบครัว ประกันที่เคยซื้อไว้เพื่อลดหย่อนภาษี อาจไม่เพียงพอสำหรับการดูแลคนข้างหลัง หากเราต้องจากไปกะทันหัน หรือสำหรับคนที่เตรียมความพร้อมในวัยเกษียณ ได้วางแผนเกษียณไว้เพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหลังวันเกษียณแล้วหรือยัง

เราไม่อยากให้คุณเป็น 1 ในคนที่เข้าใจผิดจนอาจพลาด สิ่งสำคัญคือการอ่านรายละเอียดแต่ละกรมธรรม์ให้เข้าใจ เพื่อที่คุณจะได้เลือกประกันที่พอดีกับความต้องการที่แท้จริงของคุณ

หรือถ้ายังไม่มั่นใจ ลองใช้เวลาเพียง 5 นาที มาค้นหาระดับความพอดีของประกันที่คุณมีอยู่ด้วย ttb smart protect พร้อมรับคำแนะนำประกันที่เหมาะกับคุณ เพื่อเติมเต็มความคุ้มครองให้คุณสบายใจ ทั้งวันนี้และในอนาคต

ค้นหาประกันที่พอดีกับชีวิตด้วย ttb smart protect


ที่มา

  • เกษียณสุขอย่างไร แม้ไร้ทายาท (2559) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2564 – 2568) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)


หมายเหตุ

  • ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
  • รับประกันชีวิตโดยบริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็นเพียงนายหน้าประกันชีวิตและรับผิดชอบในฐานะนายหน้าเท่านั้น