ในช่วงเวลาที่ “ดอกเบี้ย” เป็น “ขาขึ้น” แบบนี้ ด้านหนึ่งอาจทำให้ “คนฝากเงิน” เพลิดเพลินกับการเลือกช้อปผลิตภัณฑ์ด้านการฝากเงิน ออมเงิน และการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่าง “สุขใจ”
แต่ขณะเดียวกันก็คงเป็นเรื่องน่า “หนักใจ” สำหรับ “คนกู้เงิน” ที่ต้องเผชิญหน้ากับ รายจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แม้เราอาจจะจ่ายค่างวดเท่าเดิม แต่เงินนั้นจะไป “ตัดดอก มากขึ้น” และ “ตัดต้น น้อยลง” โดยเฉพาะสัญญาสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยแบบ “ลอยตัว” อย่างสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อธุรกิจ
วันนี้ fin tips by ttb เลยจะพาทุกคนไปดู 5 เรื่องต้องรู้ ที่จะช่วยให้เรารับมือกับเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นได้แบบชิล ๆ กัน
1.) สินเชื่อของเราคิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ หรือลดต้นลดดอก?
เริ่มต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สินเชื่อแต่ละแบบอาจจะมีวิธีคำนวณดอกเบี้ยไม่เหมือนกัน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate) ซึ่งคำนวณจากเงินต้นทั้งก้อน แล้วนำดอกเบี้ยที่คำนวณได้มารวมกับเงินต้น จากนั้นจะหารเฉลี่ยตามจำนวนเดือนในสัญญาเพื่อผ่อนชำระเท่ากันทุกงวด แบบนี้ระหว่างทางเราก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นหรือลงระหว่างทาง เพราะไม่กระทบกับดอกเบี้ยที่ถูกคำนวณไปตั้งแต่ตอนเริ่มทำสัญญาอยู่แล้ว
อีกแบบคือ อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก (Effective Rate) มักใช้กับสินเชื่อบ้าน สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด วิธีนี้ดอกเบี้ยจะเปลี่ยนแปลงตามเงินต้นที่นำมาคำนวณในแต่ละงวด ค่างวดที่จ่ายเข้ามาก็จะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือจะค่อยนำไปตัดเงินต้นให้ลดลงเรื่อย ๆ และมักใช้คู่กับอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวที่อาจปรับขึ้น-ลงระหว่างสัญญาได้เสมอ
2.) ดอกเบี้ยเงินกู้ของเรา กี่เปอร์เซ็นต์กันแน่?
ปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว จะถูกกำหนดด้วยดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งเรามักคุ้นเคยกับ MRR หรือ Minimum Retail Rate คืออัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่เรียกเก็บจาก “ลูกค้ารายย่อยชั้นดี” ซึ่งมักจะนำมาใช้อ้างอิงกับสินเชื่อบ้าน เช่น MRR-4.00% สมมติว่า ล่าสุดของธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้เรา ประกาศอัตราดอกเบี้ยล่าสุด MRR = 7.00% ต่อปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของเราก็จะอยู่ที่ 7.00% - 4.00% = 3.00% ต่อปี นั่นเอง
โดยจุดที่เราควรระวังคือ MRR ของแต่ละธนาคารจะมีค่า “ไม่เท่ากัน” เพราะฉะนั้น กู้แบงก์ไหน ให้ดู MRR ของแบงก์นั้นให้ดี
นอกจากนี้ ยังมีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ชื่อเรียกใกล้เคียงกัน คือ MLR (Minimum Loan Rate) ซึ่งจะเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับ “ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี” และ MOR (Minimum Overdraft Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับ “ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีชนิดเงินเบิกเกินบัญชี” โดยทั้ง MLR และ MOR มักจะใช้กับสินเชื่อธุรกิจ ฉะนั้น หยิบอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงมาใช้ให้ถูกตัวเท่านั้น ถึงจะได้คำตอบที่ถูกต้อง
3.) เราเลือกข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมแล้วหรือยัง?
แต่ละธนาคารจะมีข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน เวลานี้ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวะที่คนกู้อาจจะลองมาทบทวนดูว่า อัตราดอกเบี้ยเหมาะสมกับสถานการณ์อยู่หรือไม่ โดยเฉพาะ คนที่ผ่อนบ้านมาไม่น้อยกว่า 3 ปี อัตราดอกเบี้ยจะเริ่มขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 5-7% ต่อปี
โดยตอนนี้อาจจะมองหาทางเลือกสำหรับการรีไฟแนนซ์ เพื่อช่วยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเหลือประมาณ 3-4% ต่อปี ไม่เพียงเท่านี้ หลาย ๆ แบงก์ยังมีข้อเสนอแบบ “ดอกเบี้ยคงที่” มาเป็นทางเลือกเพิ่มเติม สำหรับลูกค้าที่เน้นความแน่นอน ไม่ต้องมากังวลเรื่องดอกเบี้ยจะปรับขึ้นหรือลง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีให้เลือกแบบคงที่ 1-3 ปีแรก จากนั้นก็ยังต้องเป็นดอกเบี้ยลอยตัวเช่นเดิม
พอมีดอกเบี้ยหลายรูปแบบมาให้เลือก เราอาจจะเริ่มสับสนและเปรียบเทียบกันไม่ถูก สินเชื่อบ้าน บางอันคงที่ บางอันลอยตัว บางอันผสมกันทั้งคงที่และลอยตัว ดังนั้น เราควรมาเปรียบเทียบที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก ซึ่งจะช่วยให้เราเปรียบเทียบข้อเสนอได้ชัดเจนขึ้น
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็คือ ดอกเบี้ยแบบลอยตัว ไม่ได้มีแต่ข้อเสียเสมอไป เพราะอย่าลืมว่า หากดอกเบี้ยอ้างอิงปรับลดลงมา ดอกเบี้ยลอยตัวก็จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย ในขณะที่ดอกเบี้ยคงที่ ก็จะยังคงที่ต่อไปเช่นเดิมตามสัญญา
นอกจากสินเชื่อบ้านแล้ว สินเชื่อประเภทอื่น ๆ ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว เช่น สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน และสินเชื่อธุรกิจ ก็อาจนำประเด็นเรื่องการรีไฟแนนซ์ไปพิจารณาปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน
4.) เลือกใช้สินเชื่อได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แล้วหรือยัง?
ลองพิจารณาดูว่าสินเชื่อที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมีคุณสมบัติถูกต้องตามความต้องการของเรา และตรงกับวัตถุประสงค์ของสินเชื่อนั้นหรือไม่ เช่น บางคนอาจเลือกใช้สินเชื่อบุคคลซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงมาใช้เพื่อทำธุรกิจ ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยสูงเกินความจำเป็น หากปรับมาใช้สินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า จะช่วยลดภาระค่าดอกเบี้ยไปได้มาก
หรือบางคนที่กำลังผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด ซึ่งดอกเบี้ยสูง อาจเลือกใช้บ้านหรือรถ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อสำหรับรวบหนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนจากดอกเบี้ยสูงให้กลายเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำลงได้
เรื่องระยะเวลาการกู้ยืมก็มีผลต่อการเลือกใช้สินเชื่อด้วยเช่นกัน เช่น ถ้าเราต้องการเงินจำนวนหนึ่งมาใช้สำหรับซ่อมบ้าน ควรเลือกเป็นการกู้ยืมระยะกลาง-ยาว เพื่อให้ดอกเบี้ยและค่างวดอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่หนักเกินไป ไม่ควรใช้สินเชื่ออุปโภคบริโภคซึ่งดอกเบี้ยสูงและระยะเวลากู้ยืมสั้น
ดังนั้น ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น การเลือกใช้สินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยสูงจะต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้กลายเป็นภาระทางการเงินที่มากเกินไป
5.) ประวัติเครดิต ยังต้องดีเหมือนเดิม
ไม่ว่าดอกเบี้ยจะอยู่ในจังหวะ ขาขึ้น ขาลง หรือทรงตัว สิ่งที่เราต้องรักษาไว้ให้ดีอยู่เสมอก็คือ “ประวัติเครดิต” ด้วยการชำระค่างวดสินเชื่อให้ตรงเวลาอยู่เสมอ ไม่จ่ายช้า และไม่ควรก่อภาระหนี้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การเลือกใช้บริการหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อชำระค่าสินเชื่อ หรือ Auto Direct Debit อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพื่อช่วยให้เราจ่ายค่างวดได้ตรงเวลา สม่ำเสมอ
หรือบางคนอาจเลือกวิธีการรวบหนี้จากหลาย ๆ รายการ เข้ามาอยู่กับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว เพื่อช่วยประหยัดเวลา ลดความผิดพลาดกรณีลืมจ่ายค่างวดสินเชื่อ และหากการรวบหนี้แล้วสัญญาใหม่ได้ข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์กับเรามากขึ้นด้วย
5 ข้อชวนคิด เพื่อจัดการสินเชื่อได้อย่างเหมาะสมในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์ให้เราลองกลับมาพิจารณาดูว่าสินเชื่อที่เราใช้อยู่เหมาะสมกับสถานการณ์ดีอยู่หรือเปล่า
สำหรับผู้ที่สนใจเลือกใช้สินเชื่อให้ตรงกับความต้องการ สามารถเลือกดูโซลูชันสินเชื่อรูปแบบต่าง ๆ จากทีทีบี ไม่ว่าจะเป็นการรีไฟแนนซ์พร้อมขอวงเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง หรือกรณีมองหาสินเชื่อสำหรับรวบหนี้เป็นก้อนเดียว ช่วยลดภาระดอกเบี้ยและจ่ายต่อเดือนเบาลง ก็มีพร้อมตอบโจทย์ความต้องการ โดยสามารถขอคำปรึกษาได้ที่ ทีทีบีทุกสาขา หรือดูรายละเอียดสินเชื่อเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ttbbank.com/th/personal/loans