external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

รวม 20 คำศัพท์ที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ เกี่ยวกับ “กองทุนรวม”

#fintips#วางแผนการลงทุน#คำศัพท์กองทุน#กองทุนรวม#กองทุนรวมน่าสนใจ#DCA#Fed#เรื่องน่ารู้กองทุนรวม#invest
19 ก.ย. 2565

ก่อนที่จะสร้างบ้านสักหลัง เราก็ต้องศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุ อุปกรณ์ที่เราจะใช้ในการสร้างบ้าน เพื่อให้บ้านของเรานั้นน่าอยู่และแข็งแรง #การลงทุนก็เช่นกัน ไม่ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ตาม เราก็ต้องทำการศึกษาและเข้าใจในสินทรัพย์นั้น ๆ ให้ดีเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อพอร์ตการลงทุนของเรา มาเริ่มต้นด้วยการศึกษาคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ อย่างการลงทุนใน “กองทุนรวม” ว่าแต่ละคำศัพท์ที่นักลงทุนควรรู้นั้นมีอะไรบ้าง ?


คำศัพท์ที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้

รวม 20 คำศัพท์ ที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ เกี่ยวกับกองทุนรวม

รวม 20 คำศัพท์ ที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ เกี่ยวกับกองทุนรวม

1. กองทุนรวม คือ (a mutual fund is)
กองทุนรวม คือ การรวบรวมเงินของนักลงทุน นำมาลงทุนตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้น ๆ กำหนดไว้ โดยมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพช่วยบริหารจัดการเงินของกองทุน

กองทุนรวมมีจุดเด่นตรงที่มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ แถมยังมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งกองที่ลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และสินทรัพย์อื่น ๆ


2. ตราสารหนี้ คือ (a bond is)
ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือหรือนักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกมีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และจะได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุ ตัวอย่างตราสารหนี้ที่พบเห็นทั่วไป เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน

ตราสารหนี้มีจุดเด่นตรงที่เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย แต่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ เฉลี่ยที่ 2 - 5% สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปที่ให้ดอกเบี้ยประมาณ 0.3 - 0.5% และถ้าลงทุนในพันธบัตรซึ่งมีผู้ออกเป็นรัฐบาล ยิ่งทำให้มีโอกาสสูญเสียเงินต้นต่ำมาก แต่หากลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ก่อนลงทุนต้องดูให้แน่ใจก่อนว่า บริษัทนั้นมีฐานะมั่นคง มีเงินจะจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนได้หรือไม่


3. ตราสารทุน คือ (Equity instruments are)
ตราสารทุน คือ ตราสารที่กิจการออกขายให้แก่ผู้ลงทุนเพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ ตราสารทุนแบ่งออกได้หลายประเภท เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ทั้งนี้ บุคคลธรรมดาที่ลงทุนในหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หากได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 แต่ไม่ต้องเสียภาษีในกรณีของ Capital Gain (ผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างในกรณีที่ราคาขายสูงกว่าราคาซื้อ)


4. กองทุนรวมผสม คือ (a mixed fund is)
กองทุนรวมผสม คือ กองทุนรวมที่ลงทุนทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยกองทุนรวมประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการลงทุนในตราสารแต่ละประเภทที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ซึ่งแบ่งได้ 2 แบบ คือ
1. กองทุนรวมแบบผสมที่มีข้อกำหนดในการลงทุนในตราสารทุน (Balanced Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 แต่ต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมนั้น
2. กองทุนรวมแบบผสมยืดหยุ่น (Flexible Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนขึ้นอยู่กับดุลพินิจในการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนตามความเหมาะสมของสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา


5. กองทุนลดหย่อนภาษี คือ
กองทุนลดหย่อนภาษี คือ กองทุนรวมที่สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมีด้วยกัน 2 กองทุนรวม ดังนี้
1. Super Saving Funds (SSF) คือ กองทุนรวมเพื่อการออม ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนดัชนี ฯลฯ ซึ่งสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ จะต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
2. Retirement Mutual Fund (RMF) คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ได้หลายประเภท ซึ่งสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ จะต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก ขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี


6. บลจ. คือ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) คือ บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้บริหารเงินลูกค้าในรูปแบบกองทุนรวม (mutual fund) กองทุนส่วนบุคคล (private fund) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund)


7. หน่วยลงทุน NAV คือ
Net Asset Value (NAV) คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวม รวมถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุน หักออกด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวมนั้น โดยปกติแล้วจะทำการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาดในแต่ละวัน (Mark to Market) เพื่อให้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงตามสภาวะตลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ NAV ยังแสดงถึง “ราคาซื้อ” หรือ “ราคาขายคืน” กองทุนรวมอีกด้วย โดยหากเราต้องการจะซื้อให้ดูราคาที่ช่องราคาขาย ในทางกลับกัน หากเราต้องการจะขายให้ดูที่ช่องราคารับซื้อคืน ซึ่งส่วนใหญ่ราคาขายจะสูงกว่าราคารับซื้อคืนประมาณ 0.0001 บาท และหากมีค่าธรรมเนียมการซื้อ ก็จะบวกเข้าไปในราคาขายด้วย


8. หนังสือชี้ชวนส่วนสรุป คือ
หนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (Fund Fact Sheet) คือ หนังสือที่ บลจ. เป็นผู้ออกเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของกองทุนให้ผู้ลงทุนทราบ ภายในหนังสือจะบอกรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้น ๆ เช่น ประเภทของกองทุน ความเสี่ยง นโยบายการลงทุน สัดส่วนของสินทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง และข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนควรอ่านและศึกษาข้อมูลในส่วนนี้ทุกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจ ก่อนตัดสินใจลงทุน


9. Capital Gain คือ
Capital Gain คือ ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ กำไรที่ได้จาก Capital Gain ถูกเรียกเก็บภาษีในบางประเทศ (Capital Gains Tax) ส่วนในประเทศไทยนั้น เงินได้จากการขาย หรือโอนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีการเรียกเก็บภาษี ส่วนในกรณีที่เป็นการขายหรือโอนหลักทรัพย์นอกตลาด ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีจะต้องเสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้า และต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณตอนสิ้นปีด้วย ส่วน Capital Gain จากการลงทุนในกองทุนรวม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี


10. เงินปันผล คือ (a dividend is)
เงินปันผล คือ การปันผลกำไรของบริษัทคืนแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งจะจ่ายเป็นเงินสด สินทรัพย์ หรือหุ้นก็ได้ ซึ่งรายได้ส่วนดังกล่าวที่นักลงทุนได้รับ จะต้องเสียภาษีโดยถูกหักภาษี ณ ที่ จ่าย 10% แต่สามารถขอคืนภาษีย้อนหลังได้ โดยใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล


11. DCA คือ
Dollar Cost Average (DCA) คือ วิธีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน ที่ลงทุนด้วยเงินลงทุนเท่า ๆ กันทุกงวด โดยไม่คำนึงถึงราคาของสินทรัพย์ลงทุน ณ ขณะนั้น โดยจะนิยมใช้กับการลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้น เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ยังจับจังหวะลงทุนไม่ได้ หรือไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร เช่น เราตั้งไว้ว่าทุกวันที่ 1 ของเดือน ให้ระบบหักเงินไปซื้อกองทุนรวมจำนวน 1,000 บาท โดยไม่สนใจว่าราคาจะเท่าไหร่ หากเดือนไหน ราคากองทุนรวมสูงขึ้น เราก็ซื้อได้น้อยลง ตรงกันข้าม หากราคาลดลง เราก็จะซื้อได้มากขึ้น


12. Lump Sum คือ
Lump Sum คือ วิธีการลงทุนแบบครั้งเดียวด้วยเงินก้อน ในจังหวะเวลาที่ประเมินแล้วว่าเหมาะสม (Market Timing) และมีความมั่นใจว่าในอนาคตราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและภาวะเศรษฐกิจได้ดี มีความรู้เรื่องการวิเคราะห์ทางเทคนิค มีเงินก้อนและรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนได้ เพราะถ้าหากจับจังหวะลงทุนผิดก็อาจสร้างผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก


13. ภาวะเงินเฟ้อ คือ (Inflation is)
ภาวะเงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล เสื้อผ้า ราคาที่ดิน ฯลฯ ซึ่งหากเรามีเงินเท่าเดิม จะซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านั้นได้น้อยลงกว่าเดิม โดยสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
1. ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการนั้น ๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น
2. ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (Cost-Push Inflation) หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย
แต่ถ้าเงินเฟ้ออ่อน ๆ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ขายก็จะได้กำไรเยอะขึ้น ทำให้กล้าขยายกิจการ เพิ่มการผลิตและการลงทุน เกิดการจ้างงานมากขึ้น มีการหมุนเวียนของเงินในระบบเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง


14. ภาวะเงินฝืด คือ (Deflation is)
ภาวะเงินฝืด คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อย ๆ เนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผลิตออกมามีมากกว่าความต้องการซื้อสินค้าของคนในประเทศ หรือพูดง่าย ๆ คือ ตรงข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ โดยสาเหตุของเงินฝืด เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ซื้อลดลง ไม่กล้าใช้จ่ายเงิน เนื่องจากปัจจัยที่เข้ามากระทบ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง รวมไปถึงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจไม่เพียงพอ เช่น เงินตราไหลออกนอกประเทศมากเกินไป เป็นต้น


15. Stagflation คือ
Stagflation คือ การรวมคำ 2 คำเข้าด้วยกัน ได้แก่ Stagnation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือชะงัก และ Inflation คือ ระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นหรือเงินเฟ้อ Stagflation จึงหมายถึง ภาวะที่อัตราเงินเฟ้อและการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับโตไม่ทันกัน

หากเกิดภาวะนี้ขึ้นอาจต้องมองหาสินทรัพย์การลงทุนที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ และหุ้นวัฏจักร เช่น ธุรกิจพลังงานและธนาคาร เป็นต้น


16. GDP คือ
Gross Domestic Product (GDP) คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ คำนวณมาจากมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า GDP เป็นมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป, Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน, Government Spending คือ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ และ Net Export คือ มูลค่าการส่งออกสุทธิ

ถ้าตัวเลข GDP ของไทยสูงขึ้น ก็แปลได้ว่ามีรายได้เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งอาจจะมาจากการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ภาครัฐมีการลงทุนโครงการต่าง ๆ รวมถึงมีนักท่องเที่ยวมาใช้เงินในประเทศเรามากขึ้น เป็นต้น


17. FED คือ
Federal Reserve (FED) คือ อ หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง FED นั้นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต อัตราคิดลด (Discount rates) และการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งไม่มีใครจะสามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าทิศทางในอนาคตและนโยบายของ FED จะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ การคาดเดาจากการสื่อสารของ FED


18. FOMC คือ
Federal Open Market Committee (FOMC) คือ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ มีหน้าที่ในการกำหนดและรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน โดยใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการเป้าหมายของอัตราการว่างงานและเป้าหมายเงินเฟ้อ


19. การจัดพอร์ตการลงทุน คือ
การจัดพอร์ตการลงทุน (Investment portfolios) คือ เป็นการกระจายลงทุนในหลากหลายหลักทรัพย์ เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักทรัพย์ โดยขึ้นอยู่กับแผนการลงทุน ว่าเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน คาดหวังผลตอบแทนเท่าไหร่ และมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนอย่างไร


20. Stop Loss คือ
Stop Loss คือ จุดตัดการลงทุน หรือจุดตัดการขาดทุน ซึ่งก็คือ การตั้งจุดตัดเพื่อไม่ให้ราคาหลักทรัพย์ในพอร์ตลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะที่ทำการ Stop Loss นั้น นักลงทุนอาจขาดทุนหรือได้กำไรอยู่ในขณะที่ขายก็ได้ แต่ขายออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้กำไรลดลงกว่าที่เป็น หรือขาดทุนมากยิ่งขึ้น

จากคำศัพท์ข้างต้น หากเราได้ทำการศึกษาและทำความเข้าใจก่อนการลงทุน จะเปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรกของการลงทุนที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้เส้นทางการลงทุนนั้นราบรื่นมากยิ่งขึ้น และสามารถเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

ทั้งนี้ สำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นลงทุน หรือใครที่อยากลงทุนแต่ไม่ค่อยมีเวลาในการศึกษา และติดตามตลาด ทาง ttb advisory มีกองทุนรวมที่น่าสนใจ อย่าง ttb smart port มาแนะนำ โดยเราสามารถเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญที่คอยดูแลบริหารจัดการพอร์ตให้อีกด้วย สนใจทดลองตั้งเป้าหมายและลงทุนได้เลย เริ่มต้นเพียง 1 บาท ให้เงินทำเงิน เพื่อให้คุณมีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้ด้วย ttb smart port สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.ttbbank.com/tsp/lite-cal เปิดบัญชีกองทุน และลงทุนผ่านแอป ttb touch สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ttb investment line หรือโทร. 1428 กด#4 ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9:00 น. – 17:30 น. (ยกเว้นวันหยุดธนาคาร)


หมายเหตุ:

  • ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด ที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
  • การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน /ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต /ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน / กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศและไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรืออาจได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ / ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวน โดยเฉพาะนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน /ผู้ลงทุนสามารถรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ ทีทีบี ทุกสาขา หรือ ttb Investment Line โทร. 1428 กด # 4 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9:00 – 17:30 น. (ยกเว้นวันหยุดธนาคาร)