external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

ไขข้อสงสัย ติด Solar Cell คุ้มจริงหรือไม่

#fintips #สินเชื่อบ้านแลกเงิน #solarcell #solarroof #โซล่าเซลล์
20 ก.ย. 2567

การติดตั้ง Solar Cell กำลังเป็นเรื่องที่หลายๆคนให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ช่วยลดการใช้พลังงานถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยให้เราสามารถประหยัดค่าไฟได้เป็นจำนวนมาก คุ้มค่าในการลดค่าไฟในระยะยาวอีกด้วย แต่ก่อนที่เราจะติด Solar Cell มาเตรียมตัวให้พร้อมกันก่อน ดังนี้

ไขข้อสงสัย ติด Solar Cell คุ้มจริงหรือไม่


1. เข้าใจก่อนว่า Solar Cell เหมาะกับบ้านแบบไหน

บ้านที่ควรติดตั้ง Solar Cell เป็นอย่างยิ่ง จะเป็นบ้านที่ต้องใช้ไฟค่อนข้างมากโดยเฉพาะช่วงกลางวัน เพราะเราสามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเป็นพลังงานไฟฟ้าภายในบ้านเพื่อทำกิจกรรมต่างๆได้ ดังนั้นจึงเหมาะกับบ้านที่มีคนอาศัยอยู่ตลอดเวลา เช่น บ้านที่เป็น Home Office ใช้ทำงานช่วงกลางวันไปด้วย หรือบ้านที่มีเด็กและผู้สูงอายุอยู่อาศัยเพราะจะต้องใช้ไฟในการทำกิจกรรมต่างๆอยู่ตลอดเวลา

แต่ก่อนที่เราจะติดตั้ง ต้องหาจุดที่เหมาะสมในบริเวณบ้านกันก่อน ซึ่งจุดที่ดีที่สุดนั้นต้องเป็นจุดที่รับแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บริเวณหลังคาที่ลาดเอียงไปรับแดดและไม่มีอาคารสูงบังบ้านเรา หรืออาจจะเป็นพื้นที่กว้างๆที่หันรับแดดให้วาง Solar Cell ได้ด้วยเช่นกัน โดยความลาดชันของแผงSolar Cell ควรเอียงประมาณ 15-20 องศากับพื้นดิน เพื่อทำให้แสงอาทิตย์กระทบตั้งฉากกับแผงโซลาร์เซลล์ให้ดีที่สุด


2. คำนวณจุดคุ้มทุน

การติด Solar Cell ช่วยให้เราลดค่าไฟของบ้านได้มากในระยะยาว แต่ทั้งนี้ เราต้องคำนึงถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในบ้านช่วงกลางวันก่อนว่าควรเลือกขนาดแผง Solar Cell เท่าไหร่จึงจะพอดีกับการใช้งาน และค่อยมาคำนวณจุดคุ้มทุนว่าอยู่ที่กี่ปี

ยกตัวอย่างเช่น เราจ่ายค่าไฟเฉลี่ยเดือนละ 6,500 บาท โดยบ้านเรามีคนอยู่ทั้งวัน จึงทำให้สัดส่วนการใช้ไฟตอนกลางวันคิดเป็น 80% และกลางคืน 20% ดังนั้นค่าไฟในช่วงกลางวันคิดเป็น 5,200 บาท

หลังจากนั้น ลองมาคำนวณว่าเราใช้ไฟเป็นจำนวนกี่หน่วย โดยปัจจุบันอัตราค่าไฟนั้นเฉลี่ยแล้วหน่วยละประมาณ 4 บาท แสดงว่าเรามีการใช้ไฟในช่วงกลางวัน 1,300 หน่วย/เดือน(5,200/4 = 1,300) หรือประมาณ 43 หน่วยต่อวัน

ซึ่งใน 1 วันนั้น Solar Cell จะสามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์ได้ประมาณ 5 ชั่วโมง ดังนั้นจากการใช้งานช่วงกลางวัน 43 หน่วย/วัน คิดแล้วตกชั่วโมงละ 8.6 หน่วย (43/5 = 8.6) ซึ่งโดยปกติแล้ว 1 หน่วยจะมีค่าเท่ากับ 1 กิโลวัตต์ เราจะทำการติดตั้ง Solar Cell ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 10 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เพื่อให้เพียงพอกับการใช้ช่วงกลางวัน ซึ่งมีค่าติดตั้งประมาณ 300,000 บาท

ต่อมาลองคำนวณดูว่ากี่เดือนคืนทุน จากตัวอย่างเราใช้ไฟช่วงกลางวันตกเดือนละ 5,200 บาท ก็จะมีจุดคุ้มทุนที่ 58 เดือน (300,000/5,200 = 58) หรือประมาณ 4.8 ปี ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าค่าไฟจะประหยัดลงในระยะยาวได้อย่างแน่นอน

หมายเหตุ : เป็นการประมาณการเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ไฟ และ สภาพอากาศในแต่ละวัน หรือชนิดของโซลาร์เซลล์ที่เราเลือกมาติดตั้ง


3. ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม

โดยส่วนใหญ่แล้วในการติดตั้ง Solar Cell ทางผู้ให้บริการมักจะคิดค่าบริการติดตั้งไปกับการขายแผง Solar Cell ซึ่งค่าบริการนั้นจะคิดจากพื้นที่ที่ใช้ หากบ้านเราเป็นบ้านขนาดเล็ก ใช้ไฟไม่มาก เปิดแอร์ 1 ตัวในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งต้องการพลังงาน 1.5 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จะมีค่าติดตั้ง 70,000 - 100,000 บาท และหากเป็นบ้านที่ต้องใช้ไฟมากขึ้นเพราะมีคนจำนวนมาก เช่น 10 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ก็จะมีค่าติดตั้งที่ 300,000 - 500,000 บาท ค่าใช้จ่ายนี้ถือว่าไม่มากในระยะยาวและถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

นอกจากนี้เรายังต้องเตรียมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าบริการออกแบบ ค่าบำรุงรักษา ค่าตรวจสอบระบบต่างๆ ซึ่งจะคิดตามขนาดของ Solar Cell และกำลังการผลิต เงื่อนไขเป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ให้บริการ


4. ข้อพิจารณาอื่นในการติดตั้ง

ต้องอย่าลืมว่าการติดตั้ง Solar Cell เป็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งเราจะต้องแน่ใจว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือการใช้ไฟของเราจะไม่เปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น เราจะอยู่บ้านหลังเดิมไปอีกหลายปี แบบนี้คุ้มค่าติดตั้ง Solar Cell แบบสุดๆ แต่ถ้าในกรณีที่เรามีแผนในการไปเรียนต่อหรือทำงานในต่างประเทศในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็อาจจะไม่คุ้มค่าหรือใช้ระยะเวลาในการคืนทุนนานกว่าเดิม

นอกจากนี้เราจะต้องทราบว่า Solar Cell นั้นแบ่งออกเป็นระบบ ออนกริดและออฟกริด โดยระบบออนกริดนั้นจะเป็นการติดตั้ง Solar Cell ที่สามารถเชื่อมสายไฟฟ้ากับทางการไฟฟ้าได้ ทำให้เราสามารถใช้ไฟได้ทั้งจาก Solar Cell ในตอนกลางวัน และใช้ไฟจากการไฟฟ้าในเวลากลางคืน หากเราผลิตไฟได้เยอะก็สามารถขายไฟให้การไฟฟ้าได้อีกด้วย

ระบบออนกริดจึงเป็นระบบที่จะต้องขอใบอนุญาตกับการไฟฟ้าก่อน ส่วนระบบออฟกริด จะไม่มีการเชื่อมสายไฟกับทางการไฟฟ้า จึงไม่ต้องขอใบอนุญาตจากการไฟฟ้า ระบบนี้จะรับพลังงานแสดงอาทิตย์มาและเก็บสะสมในแบตเตอรี่และนำกลับมาใช้เป็นพลังงานได้ในตอนกลางคืน ซึ่งต้นทุนอาจราคาสูงกว่าหน่อย

และ สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบว่าแผง Solar Cell ไหนดีหรือไม่ดีนั้นจะต้องนำเครื่องมิเตอร์วัดค่ารังสีแสงอาทิตย์ เพื่อคำนวนประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้า หรือเราอาจจะใช้เครื่องมือทดสอบดูว่าอินเวอร์เตอร์ที่ใช้ในการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับนั้นมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ หากวัดผลแล้วมีความนิ่ง ไม่มีความผันผวนก็แปลว่าเราเป็นของที่มีคุณภาพดี

จะเห็นว่าการติดตั้ง Solar Cell มีข้อดีอยู่เยอะมาก เช่น เป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่าและช่วยให้เราประหยัดค่าไฟได้มาก นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่อย่างไรก็ตามการติดตั้ง Solar Cell เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่ต้องใช้เงินมาก และถ้าไม่เหมาะกับพฤติกรรมการใช้ไฟในแต่ละวัน ก็จะกลายเป็นการลงทุนที่ไม้คุ้มค่าได้

และหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการติดตั้ง Solar Cell แต่ไม่มีเงินก้อนก็สามารถมาขอสินเชื่อบ้านแลกเงินทีทีบี Go Green ได้
ไม่มีเงินก้อน ก็ติดตั้งได้
ดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล
กู้ได้ 100% ของค่าติดตั้ง

โดยสามารถนำบ้านที่ปลอดภาระแล้ว มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อได้ หรือ หากบ้านกำลังผ่อนอยู่ ก็สามารถย้ายมารีไฟแนนซ์และขอวงเงินกู้เพิ่มได้เช่นกัน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สินเชื่อบ้านแลกเงิน Go Green สำหรับติดตั้ง Solar Roof/EV Charger

สินเชื่อบ้านแลกเงิน Go Green สำหรับติดตั้ง Solar Roof/EV Charger