- ซื้อของจากร้านค้าที่เป็นทางการ ช่วยเซฟความปลอดภัย
- ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะ เสี่ยงต่อการถูกแฮ็กข้อมูลได้
- หมั่นตรวจสอบบัญชีที่ผูกไว้กับการซื้อของออน์ไลน์
การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของเราไปแล้วนะครับ เพราะสะดวกสบาย รวดเร็ว ไม่เสียเวลาเดินทางออกไปช้อปปิ้งนอกบ้าน แต่ก็ยังมีเรื่องให้ต้องระวังด้วยเช่นกัน เพราะมิจฉาชีพออนไลน์ระบาดหนักในขณะนี้ และมีกลโกงรูปแบบใหม่มากมายที่เห็นกันได้ตามข่าว ซึ่งวิธีการเช็กเบื้องต้นต่อไปนี้สามารถช่วยป้องกันความปลอดภัยให้กับสายช้อปปิ้งออนไลน์ได้ครับ
ช้อปปิ้งออนไลน์จากร้านค้าที่เป็นทางการ หรือร้านที่มีความน่าเชื่อถือ มีรีวิวจากผู้ซื้อ
การช้อปปิ้งออนไลน์ควรเลือกซื้อกับเจ้าของแบรนด์โดยตรง (Official Brand) นอกจากป้องกันสินค้าปลอมแล้ว แบรนด์ยังมีข้อกำหนดเรื่องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA ช่วยให้มั่นใจในการให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน
หากเป็นกรณีที่ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าจากเจ้าของแบรนด์โดยตรง ต้องตรวจสอบผู้ขายโดยละเอียด ซึ่งดูได้จากรีวิวผู้ซื้อ การให้คะแนนร้านค้า หรือซื้อผ่านแอปพลิเคชันทางการ และไม่ควรสั่งสินค้าในปริมาณมากในครั้งแรก
ดู URL เป็นหลัก หากเป็นเว็บไซต์ที่ปลอดภัยควรขึ้นต้นด้วย https://
อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างความมั่นใจในการช้อปปิ้งออนไลน์ก็คือ การสังเกต URL ของเว็บไซต์นั้น หากขึ้นต้นด้วย https:// แสดงว่าเป็นเว็บไซต์ที่ค่อนข้างปลอดภัย และหากมีไอคอนที่เป็นรูปกุญแจอยู่ด้วย แสดงว่าเว็บไซต์นั้น มีการเชื่อมต่อ Secure Socket Layer (SSL) หรือโปรโตคอลความปลอดภัยมาตรฐาน เทคโนโลยีเพิ่มความปลอดภัยในการสื่อสาร หรือส่งข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สามารถช่วยป้องกันการเข้าถึงข้อมูลจากแฮ็กเกอร์ได้
ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะ เสี่ยงต่อการถูกแฮ็กข้อมูลได้
การใช้ Wi-Fi สาธารณะนอกจากเสี่ยงต่อการถูกแฮ็กข้อมูลส่วนตัวแล้ว ยังเสี่ยงถูกแฮ็กข้อมูลทางการเงินอีกด้วย เพราะ Wi-Fi สาธารณะเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพออนไลน์ใช้ในการถ่ายโอนข้อมูลได้ง่ายมาก โดยเฉพาะข้อมูลบัตรเครดิต ฉะนั้นทุกครั้งที่จะกดสั่งซื้ออะไรควรใช้อินเทอร์เน็ตส่วนตัว หรือ Wi-Fi ที่บ้านจะปลอดภัยที่สุด
หมั่นเปลี่ยนพาสเวิร์ดบ่อย ๆ
การเปลี่ยนพาสเวิร์ดเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำเพื่อป้องกันมิจฉาชีพออนไลน์เพื่อความปลอดภัย ที่สำคัญควรเป็นรหัสที่ยากต่อการคาดเดาได้ เช่น มีอักขระอย่างน้อย 8 ตัวขึ้นไป ประกอบไปด้วย ตัวพิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่ ตัวเลข สัญลักษณ์ประกอบ ไม่ใช้ชื่อคน สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น และควรเปลี่ยนใหม่ทุก 1 เดือน
ตรวจสอบยอดบัญชีหรือบัตรเครดิตทุกครั้งหลังช้อปปิ้งออนไลน์ว่าไม่มีความผิดปกติ
บางคนช้อปปิ้งออนไลน์เสร็จไม่ได้เช็กสลิปบัตรเครดิต หรือตรวจสอบยอดเงินที่ตัดไป มารู้ตัวอีกทีอาจถูกแฮ็กเงินไปแล้ว ฉะนั้นหลังซื้อทุกครั้งให้ตรวจสอบยอดเงินที่ถูกหักไปจากบัตรเครดิต ว่าตรงกันหรือไม่ และเก็บหลักฐานการโอนทุกครั้ง โดยตั้งค่าบันทึกสลิปอัตโนมัติจากแอปธนาคาร หรือบันทึกภาพหน้าจอเก็บไว้ นอกจากปลอดภัยแล้ว จะได้รู้ด้วยว่าเดือนนี้เราใช้จ่ายไปกับสินค้าใด จำนวนกี่บาทแล้วครับ
อีกหลายครั้งเช่นกันที่หลายคนเห็นแก่โปรโมชันลดราคาที่ทางร้านมีไว้ดึงดูดใจ จึงรีบกดสั่งซื้อ ทำให้ละเลยความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ฉะนั้นก่อนซื้อสินค้าทุกครั้ง หยุดคิดสักนิด ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนสั่งสินค้าครับ
ข้อมูลจาก
- เว็บไซต์ support.microsoft.com
- เว็บไซต์ bangkokbiznews.com
- เว็บไซต์ malwarebytes.cpm
Sources
https://www.bangkokbiznews.com/business/966814
https://support.microsoft.com/th-th/windows/สร้างและใช้รหัสผ่านที่คาดเดายาก-c5cebb49-8c53-4f5e-2bc4-fe357ca048eb
https://www.malwarebytes.com/blog/news/2017/11/10-tips-safe-online-shopping-cyber-monday