external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

ขาช้อปปิ้งออนไลน์ต้องรู้
จ่ายเงินแล้วไม่ได้ของ
ต้องทำอย่างไร

ขาช้อปปิ้งออนไลน์ต้องรู้ จ่ายเงินแล้วไม่ได้ของ ต้องทำอย่างไร

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #digital #shopping-fraud
7 ต.ค. 2565

  • ตัวอย่างเหตุการณ์โกงออนไลน์
  • วิธีตรวจสอบและป้องกันก่อนช้อปปิ้งออนไลน์
  • หากถูกโกงแล้วควรทำอย่างไร

 

ช้อปปิ้งออนไลน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเราไปแล้ว และดูเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่ก็มีอีกหลายคนที่ต้องเสียรู้ กับการช้อปปิ้งออนไลน์แล้วแม่ค้าปิดร้านหนี หรือเงียบหายไป ไม่อ่าน ไม่ตอบกลับข้อความ โอนเงินจ่ายค่าสินค้าไปแล้ว แต่กลับไม่ได้รับของ


ตัวอย่างเหตุการณ์โกงออนไลน์

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ETDA สำนักพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้เปิดเผยว่า ปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าเป็นกลโกงออนไลน์อันดับ 1 มีสถิติสูงถึง 45% จากกรณีที่เป็นข่าวดังคือ แม่ค้าออนไลน์ได้หลอกขายโทรศัพท์มือถือทางโซเชียลมีเดีย ด้วยการโพสต์ภาพลงขายในอินสตาแกรม ตั้งราคาที่ถูกกว่าร้านอื่น ๆ พร้อมกับสร้างรีวิวปลอมจนน่าเชื่อถือ และมีเหยื่อถูกหลอกเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือนักเรียนหญิงอายุ 14 ปี ที่ตั้งใจสั่งซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อมาเรียนหนังสือออนไลน์ แต่เมื่อชำระเงินไป ไม่ได้รับของ และพบว่าถูกหลอกทำให้เกิดเป็นความเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตลง นั่นเอง

แม้ว่าจะมีกฎหมาย และบทลงโทษกับมิจฉาชีพออนไลน์เหล่านี้ แต่รูปแบบการโกงที่ว่าจ่ายเงินแล้ว ไม่ได้ของก็ยังมีให้พบเห็นได้บ่อยครั้ง มาดูวิธีการเตรียมพร้อม และรับมือกันครับ


วิธีตรวจสอบและป้องกันก่อนช้อปปิ้งออนไลน์

ก่อนซื้อสินค้าออนไลน์ ต้องตรวจสอบให้แน่ชัด ด้วยเช็กลิสต์ต่อไปนี้


สั่งผ่านเว็บไซต์ หรือร้านค้าออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ

ขั้นตอนแรกของการสั่งสินค้าที่ไม่ควรมองข้ามก่อนสั่งซื้อสินค้า ควรเลือกจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ สามารถพิจารณาได้จากยอดผู้ติดตาม จำนวนการตอบของผู้ขาย รีวิวสินค้าจากผู้ใช้จริง หรือสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ของแบรนด์อย่างเป็นทางการ เป็นต้น


ตรวจสอบเลขบัญชีและชื่อผู้รับโอน

ว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น ตรวจสอบจาก www.blacklistseller.com หรือเว็บไซต์อื่น ๆ ที่ให้บริการตรวจสอบรายชื่อแม่ค้าออนไลน์ เป็นต้น


มีนโยบายขอคืนเงิน

การสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ค่อนข้างปลอดภัย เพราะมีระบบคนกลางคอยเก็บรักษาเงินไว้ให้ จึงสามารถทำการขอคืนเงินผ่านระบบ ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ หากไม่ได้รับสินค้า


มีเงื่อนไขการรับประกันสินค้า

สิ่งสำคัญที่หลายคนมองข้าม คือการตรวจสอบเงื่อนไขการรับประกันสินค้า หรือบริการหลังการขาย ควรมีการระบุไว้ให้ชัดเจน


เป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย

ช้อปปิ้งออนไลน์สินค้าที่ถูกกฎหมาย ถูกลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ของต้องห้าม หรือสิ่งเสพติด เป็นต้น

ป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ


หากถูกโกงแล้วควรทำอย่างไร

เมื่อมั่นใจแล้วว่าถูกโกงแน่นอน ไม่ใช่แค่สินค้าจัดส่งล่าช้า ให้ตั้งสติก่อน แล้วดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้


หากจ่ายผ่านบัตรเครดิต ให้แจ้งธนาคารเพื่อยกเลิก

ให้แจ้งไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อทำการยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายดังกล่าวภายใน 30 วันนับจากวันที่ครบกำหนดว่าต้องส่งสินค้าให้ แต่หากร้านค้าไม่ได้กำหนดวันที่ในการส่งของ สามารถแจ้งปฏิเสธการชำระเงินกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตของคุณได้เลย


หากจ่ายผ่านการโอนเงิน แจ้งความดำเนินคดี

หากเป็นการชำระเงินด้วยการโอนผ่านธนาคาร จะไม่สามารถทำการยกเลิกได้ ดังนั้นให้คุณแจ้งความดำเนินคดีฉ้อโกงกับผู้ขาย และเจ้าของบัญชีที่รับชำระค่าสินค้า ดังนี้

  1. ยื่นเอกสารการโอนเงินที่ธนาคารปลายทางที่รับชำระเงินเพื่ออายัติบัญชี
  2. นำหลักฐานต่อไปนี้แจ้งความที่สถานีตำรวจ
    • ข้อมูลชื่อ ที่อยู่ผู้ขาย
    • ชื่อร้านค้า
    • เลขที่บัญชีธนาคาร
    • ข้อมูลการโอนเงิน
    • ประวัติการสนทนาซื้อขายสินค้า

ถูกโกงต้องทำอย่างไร

แม้ว่าจะถูกใจสินค้านั้นมากแค่ไหน ก็ต้องชั่งใจสักนิด ทำการตรวจสอบตามขั้นตอนต่าง ๆ ว่าน่าเชื่อถือ และไว้ใจได้ แต่หากระวังแล้วก็ยังไม่วายต้องโดนมิจฉาชีพออนไลน์เล่นงานเข้าให้ ก็ควรดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง และไม่ไปกระทำผิดกับใครอีกครับ


ข้อมูลจาก

  • เว็บไซต์ anti fake news center
  • เว็บไซต์ wongnai
  • เว็บไซต์ tcsd.go.th
  • เว็บไซต์ ETDA


Sources

  • https://www.antifakenewscenter.com/คลังความรู้/ซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของต้องทำอย่างไร/
  • https://www.wongnai.com/articles/online-shopping-fraud
  • https://tcsd.go.th/6-วิธีป้องกันการถูกหลอก/
  • https://www.wongnai.com/articles/website-to-check-the-names-of-scammers-online
  • https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/1212-OCC-Reveals-10-Online-Frauds.aspx