- 55% ของการแจ้งความออนไลน์เป็นการหลอกลวงด้านการเงิน
- รู้ทันกลโกงมิจฉาชีพ สัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง
ขึ้นชื่อว่าเป็นมิจฉาชีพย่อมไม่เคยมาดีแถมยังมีสารพัดวิธีหลอกลวงให้ต้องเสียทรัพย์ โดยเฉพาะภัยร้ายที่มองไม่เห็นตัวที่มักใช้ช่องทางออนไลน์เข้ามาสร้างความเสียหายให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ดังรายงานคดีออนไลน์จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่หลังเปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ก็มีการแจ้งเหตุเข้ามากว่า 14,794 เรื่องโดย 55% เป็นการหลอกลวงด้านการเงิน (1 มี.ค. 2565- 20 เม.ย. 2565) หนึ่งหนทางป้องกันที่จะรับมือกับนักโจรกรรมคือการรู้ทันกลโกงต่างๆ เพื่อปิดช่องโหว่ไม่ให้ภัยร้ายมาถึงตัว
เตือนภัยคนมีบัตรเครดิต รู้ทันกลโกงมิจฉาชีพ
แน่นอนว่าบัตรเครดิตคือตัวช่วยเปลี่ยนเรื่องเงินให้เป็นเรื่องง่ายด้วยความสะดวกสบายอยากหยิบใช้เมื่อไหร่ก็คล่องมือแถมยังคุ้มค่าจากสิทธิประโยชน์อีกมากมายทั้งคะแนน
สะสมและเครดิตเงินคืน ในฐานะนักช้อปฉลาดใช้ย่อมต้องพร้อมรับมือกลโกงจากมิจฉาชีพที่อาจสบโอกาสโจรกรรมผ่านบัตรเครดิต
Data breaches ข้อมูลบัตรเครดิตรั่วไหล
การรั่วไหลของข้อมูลบัตรเครดิตอาจเกิดได้จากการโดนแฮก ทำบัตรสูญหายและมีผู้หยิบไปใช้ การบันทึกข้อมูลบัตรเครดิตไว้กับเบราว์เซอร์ที่ไม่น่าเชื่อถือหรือแพลตฟอร์มที่ไม่มีการยืนยันตัวตนก่อนใช้งาน การผูกบัตรไว้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ แม้กระทั่งการเปิดเผยข้อมูลด้วยตัวเองผ่านการโพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดียและอื่นๆ เมื่อไหร่ที่อยู่ดีๆ แม้ไม่ได้ใช้จ่ายอะไรในตอนนั้นแต่ก็มีแจ้งเตือนว่าบัตรเครดิตถูกตัดเงินอาจหมายถึงการถูกโจรกรรม สิ่งที่ควรรีบทำคือการตรวจเช็คกับธนาคารในทันที ที่สำคัญต้องคอยสังเกตสัญญาณน่าสงสัยอื่นๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยมิจฉาชีพได้อย่างทันท่วงที เช่น
- การตัดบัตรซ้ำซ้อน หรือมีรายการที่เหมือนกันเกิดขึ้นซ้ำๆ ติดกันบนใบแจ้งยอด
- การตัดบัตรที่ไม่ทราบที่มาหรือตัดบัตรเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย เพราะอาจเป็นการทดสอบบัตรของมิจฉาชีพ
- การตัดบัตรที่ถูกยกเลิก แม้ว่าจะมีวงเงินบัตรเครดิตคงเหลือแต่ไม่สามารถทำรายการได้
- ไม่ได้รับใบแจ้งยอดหรือใบแจ้งยอดมาช้ากว่าปกติ อาจเป็นเพราะถูกเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่อยู่โดยมิจฉาชีพ
Phishing scams กลโกงอีเมลปลอม เว็บไซต์ปลอม
เพราะในทุกวันเหล่านักช้อบต่างได้รับทั้งอีเมลและข้อความเป็นหลักสิบถึงหลักร้อย ไม่ว่าจะแจ้งเตือนส่วนลดหรือโปรโมชัน แจ้งเตือนการเข้าระบบหรือยอดใบเสร็จต่างๆ ทำให้มิจฉาชีพสบโอกาสปลอมเป็นเว็บไซต์สำคัญที่มีผู้ใช้งานเยอะ อาศัยความคุ้นตาของหน้าตาเว็บไซต์เพื่อหลอกผู้เสียหายให้ใส่ข้อมูลบัตรเครดิตก่อนจะทำการโจรกรรมทรัพย์สิน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เจ้าของบัตรเครดิตจะต้องหมั่นตรวจเช็กความน่าเชื่อถือก่อนคลิกลิงก์หรือทิ้งข้อมูลใดๆ บนเว็บไซต์ ดังนี้
- เช็กตัวตนผู้ส่งผ่าน email address อย่างละเอียดให้แน่ใจว่าตรงกับเว็บไซต์ทางการ
- จับทางอีเมลหรือข้อความที่แสดงถึงความเร่งด่วนฉุกเฉิน เช่น ให้อัปเดตข้อมูลบัตรเครดิตด่วน
- เช็กการสะกดคำ ความถูกต้องเรียบร้อยของข้อความ เพราะทุกธุรกิจที่น่าเชื่อถือจะมีการตรวจสอบความถูกต้องทางภาษาทุกครั้งก่อนส่งออก
- อย่าคลิกลิงก์ในทันที ควรตรวจสอบ URL เต็มๆ ให้แน่ใจก่อนทุกครั้งว่ามาจาก Officail โดยเว็บไซต์ของธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) คือ https://www.ttbbank.com เท่านั้น
- ไม่เปิดเผยข้อมูลในทุกกรณี เพราะบริษัทที่น่าเชื่อถือจะไม่มีการขอข้อมูลอ่อนไหวอย่างเลขบัตรเครดิต เลขรหัสความปลอดภัย ไม่ว่าจะผ่านข้อความ อีเมลหรือการโทรศัพท์ หากไม่แน่ใจควรติดต่อธุรกิจนั้นโดยตรง
Skimming ใช้เครื่องมืออ่านบัตรปลอม
อุปกรณ์ Skimmer คือเครื่องมือของมิจฉาชีพที่ใช้วิธีติดไว้กับเครื่องอ่านบัตรเพื่อแอบคัดลอกข้อมูลบัตรหรือรหัสบัตรไปใช้ในทางมิชอบ หากเห็นการเคลื่อนไหวบัตรที่ผิดปกติ เช่นมีการถอนเงินออกจากบัตรเครดิตหรือตัดบัตรในรายการที่ระบุที่มาไม่ได้ควรรีบติดต่อธนาคารในทันที และทางที่ดีควรระแวดระวังการ Skimming ได้แก่
- ใช้บริการเครื่อง ATM ที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง มีกล้องวงจรปิด มีผู้คนสัญจรตลอดและไม่ลับตาคน
- ใช้มือป้องเมื่อป้อนรหัส PIN เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแอบอ่านข้อมูลบัตร
- ตรวจเช็คใบแจ้งยอดชำระหรือแจ้งเตือนยอดชำระจากธนาคารอยู่เสมอเพื่อระวังความผิดปกติ
- ใช้ระบบชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) ที่สามารถแตะบัตรจ่ายได้เลยโดยไม่ต้องรูด
- ควรติดตามวงเงินคงเหลืออยู่เสมอ ในกรณีที่วงเงินลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุเพื่อแจ้งธนาคารถึงความผิดปกติได้อย่างทันท่วงที
- สังเกตเครื่องรูดบัตรและลักษณะการรูดบัตรว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่เครื่อง ตัวเครื่องทำจากวัสดุทั่วไป ดูว่าบัตรรูดได้ง่ายไม่แน่นหรือหลวมผิดปกติ
Malware โปรแกรมประสงค์ร้าย
โปรแกรมประสงค์ร้ายคือวิธีการที่มิจฉาชีพใช้ขโมยข้อมูลบัตรเครดิตผ่านการลวงให้ผู้ใช้โหลดแอพหรือกดคลิกลิงก์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น มิจฉาชีพอาจทำทีเป็นองค์กรการกุศล เป็นแอพดูดวงทายนิสัย เป็นโอกาสการลงทุนหรือลุ้นรับโชคของรางวัลใดๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ข้อความไลน์ ข้อความมือถือ เป็นต้น รวมทั้งผ่านการใช้งาน Adware หรือโปรแกรมที่นำเสนอโฆษณาล่อแหลมบนเว็บไซต์ เมื่อผู้ใช้คลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นและกรอกข้อมูลสำคัญ มิจฉาชีพจะติดตั้งเจ้าพวกซอฟต์แวร์ตัวร้ายลงบนอุปกรณ์ของผู้ใช้เพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญและขโมยข้อมูลที่ระบุตัวตนได้ไปใช้ในทางเสียหาย ทางที่ดีที่สุดในการระมัดระวังภัยและป้องกันสามารถทำได้โดยการ
- คอยอัปเดตระบบอุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
- ใช้โปรแกรม Antivirus ที่เชื่อถือได้เพื่อคอยบล็อกไม่ให้ malware มาติดตั้งอยู่บนเครื่อง
- หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi แปลกหน้าในขณะทำธุรกรรมทางการเงิน
- ใช้รหัสที่คาดเดายากและมีการยืนยันตัวตนแบบ two-factor authentication
มีบัตรเครดิต ttb อุ่นใจ ป้องกันภัยมิจฉาชีพด้วยแอป ttb touch เพื่อการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพตัวร้ายให้ปลอดภัยขึ้นอีกขั้น เจ้าของบัตรเครดิต ttb สามารถดาวน์โหลดแอปttb touch แอปเดียวอุ่นใจด้วยบริการที่ครอบคลุม โอน-เติม-จ่าย-ถอน ทั้งยังช่วยให้เจ้าของบัตรสามารถควบคุมวงเงินการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้อย่างอิสระ ด้วยการตั้งค่าปรับวงเงินบัตรเครดิต ผ่านแอป ttb touch สามารถดาวน์โหลดเพื่อติดตั้งแอป ttb touch อย่างปลอดภัยได้เลย คลิก
วิธีปรับเพิ่ม / เปลี่ยนวงเงินบัตร คุมการจ่ายไม่ให้เกินงบ
- จากหน้าหลักไปที่ปุ่ม บัญชี ที่แถบเมนูด้านล่าง
- เลือกเมนูบัตร และคลิก อื่น ๆ
- เลือก ปรับวงเงินบัตร ที่เมนูจัดการบัตร
- ระบุวงเงินใหม่ที่ต้องการ โดยใส่จำนวนเงินในช่อง หรือเลื่อนปุ่มบนแถบสีฟ้า และกด ถัดไป
- ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอีกครั้งก่อนกด ยืนยัน
- ใส่ PIN เพื่อยืนยันการทำรายการ
- ทำรายการปรับวงเงินบัตรสำเร็จ
เปิดการแจ้งเตือนผ่านแอป ติดตามทุกการเคลื่อนไหวบัตรเครดิต
- กดปุ่มเมนูซ้ายมือบน > กด “ตั้งค่า” > กด “การแจ้งเตือน”
- เลือก แจ้งเตือนผ่านแอป
- เลือก เปิดการแจ้งเตือน และ กดเปิดปุ่ม ด้านข้างชื่อบัญชีต่างๆของคุณ
เช็ครายการใช้จ่ายบัตรเครดิต ด้วยการสมัคร eStatement
- จากหน้าหลักไปที่ปุ่ม บัญชี ที่แถบเมนูด้านล่าง เลือกเมนูบัตร และคลิก อื่นๆ
- เลือกสมัคร eStatement
- ตรวจสอบอีเมลให้ถูกต้อง หากต้องการแก้ไขสามารถกด เปลี่ยนอีเมล และทำเครื่องหมายเพื่อยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไข จากนั้นกด ยืนยัน
- ใส่ PIN เพื่อยืนยันการทำรายการ
- ทำรายการสมัคร eStatement สำเร็จ
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการใช้งานแอป ttb touch ได้ที่คู่มือการใช้งานแอป ttb touch คลิก หรือหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับเพิ่มวงเงินบัตรเครดิต หรือการสมัครใช้งาน eStatement สามารถติดต่อสอบถามหรือขอคำแนะนำได้ที่ ทีทีบี คอนแทค เซ็นเตอร์ 1428
ตกหลุมพรางมิจฉาชีพต้องทำอย่างไร
หากพบเจอเหตุการณ์น่าสงสัยหรือมีการสูญเสียทรัพย์สินสิ่งที่ต้องทำในทันทีคือเมื่อตกเป็นผู้เสียหายจากมิจฉาชีพ คือ
- แจ้งธนาคารเพื่อขออายัดบัตร ผ่านทาง ทีทีบี คอนแทค เซ็นเตอร์ 1428 หรือ ผ่านแอป ttb touch โดยจากหน้าหลักไปที่ปุ่ม บัญชี ที่แถบเมนูด้านล่าง จากนั้น เลือกบัตรที่ต้องการอายัด แล้วจึงเลือกเมนู อื่นๆ ในหัวข้อเมนูจัดการบัตร เลือกเมนู อายัดบัตร อ่านเงื่อนไขของการอายัดและออกบัตรใหม่ และตรวจสอบที่อยู่ในการจัดส่งบัตรใหม่ จากนั้นกด ยืนยันเพื่อทำการอายัดบัตร และใส่ PIN เพื่อยืนยันการทำรายการ
- รวบรวมพยานหลักฐานของเราเองว่าในวันเวลาที่บัตรถูกใช้เพื่อยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนใช้บัตร
- แจ้งความที่สถานีตำรวจหรือแจ้งความที่ศูนย์แจ้งความออนไลน์ https://www.thaipoliceonline.com/
- เช็คยอดเรียกเก็บ ทำรายการปฏิเสธยอดเรียกเก็บที่ไม่ได้ใช้
ที่มาของข้อมูล
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
กองบัญชาการตำรวจสันติบาล