- 10 วิธีรับมือฝุ่น PM 2.5 ด้วยตัวเอง
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องนะครับ ไม่ใช่แค่เพียงในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ยังรวมถึงหลาย ๆ จังหวัดของประเทศด้วย ซึ่งคาดว่าค่าฝุ่นละอองจะเกินมาตรฐานในช่วงเดือนธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์นี้
ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่นละอองสะสมเป็นจำนวนมาก ก็เกิดจากมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมามีกำลังอ่อนลง ทำให้เกิดลมอ่อนหรือลมสงบ ที่พัดเอาฝุ่นละออง และจากการก่อสร้างต่าง ๆ ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัด มีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ในที่โล่งจากภาคกลางและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 สะสมสูงขึ้นนั่นเองครับ
สังเกตอาการแพ้ฝุ่น
ฝุ่น PM 2.5 กลับมาสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้กับเราอีกครั้ง แต่ละวันที่เราต้องเผชิญและสูดดมหายใจเข้าไป ส่งผลเสียต่อร่างกายป็นอย่างมาก ทั้งทำให้หายใจไม่สะดวก ไม่ได้หายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าปอด และสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคภูมิแพ้ ยิ่งสร้างความยากลำบากในการชีวิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย อาการแพ้ฝุ่นมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง เช่น
- คนทั่วไป เมื่อมีอาการแพ้ฝุ่น จะคัดจมูก จาม ไอ หายใจไม่สะดวก คันบริเวณตา และมีน้ำตาไหล
- คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ โรคหอบหืด หรือโรคปอด อาการจะรุนแรงกว่า คือ คัดจมูกอย่างแรง ไอ น้ำมูกไหล หายใจหวีด หอบเหนื่อยมาก และอาจมีอาการระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน
- คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีอาการคัน ผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง
วิธีป้องกันตัวเอง
หากสังเกตว่าเรามีอาการแพ้ฝุ่นข้างต้น ต้องป้องกันและดูแลตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ตาม สามารถปฏิบัติตัวได้ด้วย 10 วิธีต่อไปนี้นะครับ
- ใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ควรเลือกที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ เช่น หน้ากาก N 95 ที่ได้มาตรฐาน จริง ๆ ควรเลือกแบบที่สามารถป้องกันโควิด-19 และป้องกัน PM 2.5 ได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในบริเวณที่ค่ามลพิษทางอากาศสูง
- งดออกกำลังกายในที่แจ้งหรือนอกตัวอาคารก่อน เช่น การวิ่งในสวนสาธารณะ หันไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส หรือที่บ้านแทน
- ปิดหน้าต่างบ้าน และหน้าต่างในอาคารให้เรียบร้อย
- งดเผาสิ่งที่ไม่จำเป็นในช่วงเวลานี้ เช่น การเผาต้นไม้ หรือขยะในที่โล่ง หรือขับรถที่ไม่ได้มาตรฐาน ปล่อยมลพิษทางอากาศ (ควันดำ) ออกมา
- หากคุณเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้ระวังตัวเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ กลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก
- หากมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากคุณอาจสูดดมเอาฝุ่นละอองเข้าไปในร่างกายมากไป
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น
- ปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐในการรักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลและในที่สาธารณะอย่างเคร่งครัด
- ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน พร้อมทั้งปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
เพื่อความปลอดภัย หมั่นเข้าไปเช็กข้อมูลที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดนะครับ ที่สำคัญที่สุดเลย ต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้ดี ให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะได้ไม่ต้องเสียเงินค่ารักษาไปกับอาการเจ็บป่วยจากฝุ่น PM 2.5 และควรเพิ่มความมั่นใจ ด้วยการทำประกันสุขภาพเป็นทางเลือก ttb flexi care มีไว้ก็อุ่นใจกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก
- เว็บไซต์ Prachachat
- เว็บไซต์ สสส