external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

รวมทุกเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมาย

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #ดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมาย #ดอกเบี้ยตามกฎหมาย #ดอกเบี้ยเงินกู้ #สินเชื่อบุคคล
30 ก.ย. 2567

เคยสงสัยไหมว่าทำไมแต่ละธนาคารถึงคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายต่างกัน? จริง ๆ แล้วดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนดเพดานไว้สูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่ ?

วันนี้ ทีทีบี จะพาคุณไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมาย ตั้งแต่ความหมาย วิธีคิดดอกเบี้ยเงินกู้ ไปจนถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คุณเข้าใจและวางแผนการเงินได้อย่างมั่นใจ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย


ความหมายของดอกเบี้ยเงินกู้

ดอกเบี้ยเงินกู้ คือค่าตอบแทนที่ผู้กู้จะต้องจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ตามอัตราที่ตกลงกันไว้ โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินต้นและระยะเวลาที่กู้ยืม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายที่ต้องชำระ จะมีผลต่อจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนตลอดอายุของสินเชื่อด้วย หากเราไม่พิจารณาให้รอบคอบ อาจทำให้เราต้องจ่ายดอกเบี้ยในจำนวนที่สูงเกินควร


อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมาย

ดอกเบี้ยตามกฎหมาย ถูกกำหนดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ให้กู้เรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินไป โดยในประเทศไทย มีกฎหมายที่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินสามารถเรียกเก็บจากผู้กู้ได้ มาดูกันว่าแต่ละกรณีมีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าไร


อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมระหว่างบุคคล

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ขอสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายในประเทศไทย มีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 15% ต่อปี หรือร้อยละ 1.25% ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมกันระหว่างบุคคลนั้นจำเป็นต้องมีสัญญาเงินกู้ที่ระบุเงื่อนไข เช่น จำนวนที่ให้กู้ยืม ระยะเวลาในาการกู้ยืมและอัตราดอกเบี้ยบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และค่างวดในการผ่อนชำระอาจไม่เป็นธรรมได้

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้


อัตราดอกเบี้ยสำหรับสถาบันการเงิน

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายสำหรับสถาบันการเงิน จะมีพระราชบัญญัติแยกออกมาอีกฉบับ โดยสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่เกิน 25% ต่อปี หรือขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อและข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น สินเชื่อที่มีการค้ำประกันจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อที่ไม่มีการค้ำประกัน


ดอกเบี้ยผิดนัดและค่าปรับ

กรณีการกู้ยืมระหว่างบุคคล หากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดเวลาจะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งผู้ให้กู้สามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ไม่เกิน 3% ต่อปีเพิ่มเติมจากอัตราดอกเบี้ยปกติ ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด


การคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้

การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้เรารู้ว่าในแต่ละงวดจะต้องชำระเงินเท่าไร โดยทั่วไปมี 2 วิธี คือ คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) และคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat Rate)

1. วิธีลดต้นลดดอก (Declining Balance Method)

วิธีคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายแบบลดต้นลดดอก เป็นวิธีที่เป็นธรรมกับผู้กู้มากที่สุด ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอกเป็นวิธีที่นิยมใช้กับสินเชื่อบุคคล โดยมีหลักการ คือ

  • คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด
  • เมื่อผ่อนชำระไปแต่ละงวด ดอกเบี้ยจะลดลงเรื่อยๆ
  • ส่วนของเงินต้นที่ชำระในแต่ละงวดจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างการคำนวณ สมมติว่าเรากู้เงิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี ผ่อน 12 เดือน

เดือนที่ 1:

  • ดอกเบี้ย: เราจะคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งหมดที่ยังไม่ได้ชำระคืน (100,000 บาท) ในอัตรา 12% ต่อปี แต่เนื่องจากเราคำนวณเป็นรายเดือน เราจึงหาร 12 เพื่อให้ออกมาเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อเดือน
  • คำนวณ: ดอกเบี้ย = (100,000 บาท x 12% x 1/12) = 1,000 บาท
  • หมายความว่า ในเดือนแรก คุณต้องจ่ายดอกเบี้ย 1,000 บาท

เดือนที่ 2:

  • เงินต้นคงเหลือ: สมมติว่าคุณชำระเงินต้นไปแล้ว 8,333 บาท เงินต้นที่เหลือจะเท่ากับ 100,000 - 8,333 = 91,667 บาท
  • ดอกเบี้ย: เราจะคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือ 91,667 บาท ในอัตรา 12% ต่อปี
  • คำนวณ: ดอกเบี้ย = (91,667 บาท x 12% x 1/12) = 916.67 บาท
  • หมายความว่า ในเดือนที่สอง คุณต้องจ่ายดอกเบี้ย 916.67 บาท เนื่องจากเงินต้นที่ต้องคิดดอกเบี้ยลดลง จึงทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็ลดลงตามไปด้วย


2. วิธีอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate Method)

วิธีคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ มักใช้ในสินเชื่อบางประเภท เช่น สินเชื่อรถยนต์ โดยมีหลักการ คือ

  • คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นเต็มจำนวนตลอดอายุสัญญา
  • ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละงวดจะเท่ากันตลอดระยะเวลาการผ่อน

ตัวอย่างการคำนวณ สมมติว่าเรากู้เงิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี (แบบคงที่) ผ่อน 12 เดือน

  • ดอกเบี้ยรวมทั้งหมด = 100,000 x 6% = 6,000 บาท
  • ดอกเบี้ยต่อเดือน = 6,000 / 12 = 500 บาท (คงที่ทุกเดือน)

การเข้าใจวิธีคำนวณดอกเบี้ยจะช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบข้อเสนอสินเชื่อต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และวางแผนการชำระเงินได้ดียิ่งขึ้น


กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยเงินกู้

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายในประเทศไทย ถูกกำกับดูแลโดยกฎหมายหลายฉบับ เพื่อปกป้องสิทธิของผู้กู้และควบคุมการดำเนินงานของสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สามารถเรียกเก็บได้เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงวิธีการคิดดอกเบี้ยและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามด้วย ได้แก่


1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  • มาตรา 7 : หากเป็นการกู้ยืมกันระหว่างบุคคล และไม่ได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยกันไว้ สามารถเรียกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายได้ ร้อยละ 3 ต่อปี
  • มาตรา 654 : กำหนดให้การกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้
  • มาตรา 655 : ระบุว่าการกู้ยืมเงินมีดอกเบี้ย ต้องเขียนระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในหลักฐานการกู้ยืม


2. พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560

กำหนดให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มิใช่สถาบันการเงิน เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีหากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


3. พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเปิดเผยข้อมูลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมาย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อย่างชัดเจน


4. ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

  • กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ โดยจำกัดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมาย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ รวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 25 ต่อปี (Effective Rate) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล


5. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)

  • ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการทำสัญญา โดยกำหนดให้สัญญาสำเร็จรูปต้องมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญและเงื่อนไขที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

การทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยเงินกู้ จะช่วยให้เราสามารถจัดการหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางการเงินในอนาคต

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายเหล่านี้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

สรุปเกี่ยวกับดอกเบี้ยตามกฎหมาย


สรุปเกี่ยวกับดอกเบี้ยตามกฎหมาย

การทำความเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป หากเรารู้ถึงหลักการพื้นฐาน วิธีคำนวณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อธุรกิจ เราก็จะสามารถเปรียบเทียบข้อเสนอสินเชื่อต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ ตรงตามความต้องการของเรามากที่สุด

หากคุณกำลังมองหาสินเชื่อบุคคลที่มีการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม ทีทีบีพร้อมให้คำปรึกษาและนำเสนอบริการสินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณมากที่สุด อย่าลืมว่า การกู้ยืมควรทำอย่างรับผิดชอบและพิจารณาความสามารถในการชำระคืนของตนเองอย่างรอบคอบ

***กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 18% - 25% ต่อปี