รถยนต์เปรียบเสมือนกับปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในการดำเนินชีวิตของใครหลาย ๆ คน เพราะถือเป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้ชีวิตมีอิสระในการเดินทางมากขึ้น ทั้งใช้ขับไปทำงาน ไปทำธุระ หรือไปท่องเที่ยว และในปัจจุบันการเป็นเจ้าของรถยนต์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก ยิ่งเป็นพนักงานประจำยิ่งออกรถง่าย แต่ก็ต้องคำนึงถึงค่าผ่อนต่อเดือน คำนวณเรื่องค่าใช้จ่าย เลือกรุ่นให้ตรงใจเหมาะกับการใช้งานร่วมด้วย
แต่นอกจากค่าใช้จ่ายในการมีรถยนต์แล้ว ยังมีสิ่งอื่นที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย เพิ่มอายุการใช้งานของรถเราอีกด้วย ดังนี้
- ภาษีรถยนต์
- ประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
- ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ
- ค่าเสียหายส่วนแรก
- การซ่อมห้างและซ่อมอู่
- การเช็กระยะ
ภาษีรถยนต์
คือ ป้ายกระดาษสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ผู้มีรถยนต์ทุกคนต้องจ่ายตามที่กฎหมายบังคับเมื่อถึงกำหนด เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปดูแลรักษาระบบคมนาคมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีข้อควรรู้ที่เกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์ ดังนี้
- การต่อภาษีรถยนต์แต่ละครั้งจะต้องทำการต่อภาษีรถยนต์ในปีที่หมดอายุ โดยสามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ก่อนวันที่จะหมดอายุล่วงหน้า 90 วัน
- กรณีที่ต่อภาษีรถยนต์ล่าช้ากว่าที่กำหนด จะมีค่าปรับโดยนับเวลาตั้งแต่ 1-3 ปี จะต้องเสียค่าปรับ 1% ต่อเดือน
- กรณีที่ขาดต่อภาษีรถยนต์มากกว่า 3 ปีขึ้นไป จะถือว่าป้ายทะเบียนรถยนต์นั้นถูกยกเลิกทันที หากต้องการต่อภาษีรถยนต์ใหม่จะต้องนำป้ายทะเบียนเดิมไปคืนที่กรมขนส่งทางบก พร้อมกับชำระค่าปรับ จึงจะสามารถทำใหม่ได้
- สำหรับการต่อภาษีรถยนต์ทุกครั้ง รถยนต์ที่มีอายุไม่ถึง 7 ปี ไม่จำเป็นต้องตรวจสภาพรถก่อนต่อ แต่หากรถยนต์มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป จะต้องทำการตรวจสภาพรถให้ครบก่อน ถึงจะสามารถต่อภาษีรถยนต์ได้
- จะต้องต่อพ.ร.บ. รถยนต์ก่อน ถึงจะทำการต่อภาษีรถยนต์ได้
ประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
คือ ประกันภัยที่กฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องมี ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยจะต้องทำเป็นประจำทุกปีจึงจะสามารถเสียภาษีรถยนต์รายปีได้ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะสามารถเคลม พ.ร.บ. รถยนต์ได้สูงสุด 504,000 บาทต่อคน(กรณีเป็นฝ่ายถูก) แต่จะไม่คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์
ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ
คือ ประกันภัยรถยนต์ที่ไม่ได้บังคับให้ต้องมี แต่เราสามารถซื้อเพิ่มเองด้วยความสมัครใจได้ เพื่อความสบายใจในการขับขี่ โดยตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและบริษัทประกันภัย ซึ่งสามารถเลือกระดับความคุ้มครองได้ตามที่ต้องการ
- ประกันชั้น 1 ให้ความคุ้มครองสูงที่สุด ครอบคลุมเกือบทุกกรณีตั้งแต่การชนแบบที่มีคู่กรณีหรือไม่มีคู่กรณี สูญหาย ไฟไหม้ รับผิดชอบต่อชีวิต ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงประกันตัวผู้ขับขี่
- ประกันชั้น 2+ ให้ความคุ้มครองไม่ต่างจากประกันชั้น 1 เพียงแต่จะคุ้มครองกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกและต้องมีคู่กรณีเท่านั้น
- ประกันชั้น 2 ให้ความคุ้มครองใกล้เคียงกับประกันชั้น 1 และประกันชั้น 2+ แต่จะไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์
- ประกันชั้น 3+ ให้ความคุ้มครองคล้ายประกันชั้น 2+ แต่ไม่คุ้มครองกรณีรถหาย ไฟไหม้ และโดนขโมย
- ประกันชั้น 3 ให้ความคุ้มครองคล้ายประกันชั้น 3+ แต่ไม่คุ้มครองตัวรถยนต์คันที่ทำประกันภัยทุกกรณี
ค่าเสียหายส่วนแรก
คือ จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเพิ่มให้กับบริษัทประกันภัยตามที่ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย) กำหนด เพื่อเป็นการป้องกันในกรณีที่แจ้งเคลมซ่อมรถแต่ไม่ได้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจริง หรือจากการขับรถด้วยความประมาท ซึ่งค่าเสียหายส่วนแรกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- แบบ Excess คือ ค่าเสียหายส่วนแรกแบบบังคับ ที่ คปภ. กำหนดให้ผู้ใช้รถจะต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทประกันภัยเป็นค่าเสียหายส่วนแรก 1,000 บาทต่อเหตุการณ์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี หรือไม่สามารถระบุรายละเอียดของคู่กรณีได้
- แบบ Deductible คือ ค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้ใช้รถยินยอมจ่ายให้กับบริษัทประกันภัยด้วยความสมัครใจ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ แล้วผู้ใช้รถเป็นฝ่ายผิดหรือไม่สามารถแจ้งคู่กรณีได้ โดยจะระบุไว้ชัดเจนในกรมธรรม์ ซึ่งในการทำประกันรถยนต์เราสามารถเลือกที่จะจ่ายหรือไม่จ่ายก็ได้ แต่ยิ่งเลือกจ่ายค่า Deductible สูง ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ก็จะยิ่งลดลง
ดังนั้น หากเราเป็นคนขับรถอย่างระมัดระวังอยู่แล้ว การเลือกซื้อประกันรถแบบมี Deductible ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีที่ช่วยเซฟค่าเบี้ยประกันไปได้ระดับหนึ่ง
การซ่อมห้างและซ่อมอู่
ซ่อมห้าง คือ การเรียกแบบย่อของการนำรถเข้าไปซ่อมศูนย์บริการของรถยนต์ยี่ห้อที่เราใช้อยู่ ซึ่งการซ่อมห้างมีข้อดี ดังนี้
- ซ่อมบำรุงโดยช่างผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกันแบบแยกแผนก มีการแบ่งหน้าที่ทำงานกันอย่างชัดเจน ทำให้มั่นใจได้ว่างานซ่อมแต่ละจุดมีความละเอียดรอบคอบ
- รับประกันงานซ่อม ในกรณีที่เกิดปัญหาภายในระยะเวลารับประกัน
- มั่นใจได้ว่าการซ่อมมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทรถยนต์
- มีสต็อกอะไหล่แท้พร้อมให้บริการซ่อมได้ทันที
ซ่อมอู่ คือ การนำรถยนต์ไปซ่อมตามอู่รถยนต์ที่เปิดให้บริการอยู่ทั่วไป แต่ต้องเลือกอู่ที่อยู่ในเครือข่ายของประกันรถยนต์ที่เราได้ทำเอาไว้ เพื่อให้ประกันครอบคลุม ไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งการซ่อมอู่มีข้อดี ดังนี้
- มีอู่ซ่อมให้เลือกใช้บริการมากมาย จะเลือกอู่ที่ใกล้บ้านหรือที่ทำงานก็ได้
- ระยะเวลาในการซ่อมไม่นานเท่ากับการซ่อมห้าง
- สามารถต่อรองค่าซ่อมได้ง่ายกว่า
- ค่าเบี้ยประกันรถแบบซ่อมอู่ จะถูกกว่าประกันแบบซ่อมห้าง
หากใครที่มีรถใหม่ก็อาจจะเลือกซ่อมห้าง เนื่องจากเป็นการการันตีว่าจะได้รับคุณภาพงานซ่อมที่ดีจากช่างผู้ชำนาญการ และยังหาอะไหล่ของแท้ที่บางครั้งออกถูกแบบมาเพื่อรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่า แต่ถ้าใครที่ต้องการประหยัดค่าเบี้ยประกัน ก็สามารถเลือกเป็นซ่อมอู่กับอู่ที่ไว้วางใจก็ได้เช่นกัน
การเช็กระยะ
คือ การบำรุงรักษารถยนต์ ว่ามีอุปกรณ์ชิ้นไหนชำรุดบ้าง จะได้เปลี่ยนหรือซ่อมได้ทันท่วงที โดยใช้ระยะทางในการใช้งานเป็นตัวกำหนดว่า เมื่อไหร่ที่ควรตรวจเช็กสภาพแล้ว ตั้งแต่ 1,500 กิโลเมตรหรือประมาณ 1 เดือนหลังจากออกรถใหม่ ไปจนถึงรถเก่าเลขไมล์หลักแสน
ถ้าเป็นรถใหม่จะมีประกันจากศูนย์ซ่อมบำรุงช่วยดูแลเรื่องรถให้เรา พร้อมมีคู่มือรายการที่ต้องเช็กระยะในแต่ละครั้ง เพียงเรานำรถเข้าศูนย์ตามกำหนด ทางศูนย์จะเปลี่ยนอะไหล่ให้ใหม่ตามระยะเวลาที่รับประกันในสัญญา ซึ่งการเช็กระยะจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และช่วยชะลอความเสื่อมของรถยนต์ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ยิ่งเราหมั่นดูแล ก็ยิ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นอีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาคือเรื่องสำคัญสำหรับมือใหม่หรือคนที่มีรถยนต์จะต้องทำความเข้าใจ และการมีประกันรถยนต์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เผื่อกรณีที่เราเกิดอุบัติเหตุก็ยังอุ่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองตามแผนที่เราเลือกไว้ หมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะมีประกันภัยคอยซัปพอร์ตเรื่องค่าเสียหายต่าง ๆ ให้
และหากใครที่กำลังมองหาประกันรถยนต์เพื่อเพิ่มความอุ่นใจ หมดกังวลเรื่องอุบัติเหตุ สามารถซื้อประกันรถยนต์ผ่านแอป ttb touch ได้ เพราะรวมประกันจากหลากหลายบริษัทชั้นนำมาให้เปรียบเทียบได้เลย แถมมีโปรโมชันซื้อกับ ttb ทั้งคุ้มค่าและสะดวกมาก ถ้ามีแอปแล้วคลิกซื้อผ่านมือถือได้เลย คลิก
หรือดาวน์โหลดแอป ttb touch คลิก
หมายเหตุ :
- ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข ข้อยกเว้น และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
- ในส่วนประกันรถยนต์ ttb broker เป็นนายหน้าประกันวินาศภัย ธนาคารเป็นเพียงช่องทางในการให้บริการผ่าน แอป ttb touch เท่านั้น
- ตรวจสอบรายชื่อบริษัทประกันภัยได้ที่ www.ttbbroker.com
References :
https://www.rvp.co.th/ClaimQA.php
https://www.set.or.th/th/about/setsource/insights/article/335-car-insurance-claim
https://easysunday.com/blog/tips-car-repair-center-vs-panel-garage-2/