external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

การโอนเล่มรถยนต์ใช้เอกสารอะไร มีขั้นตอนยังไงบ้าง

#fintips #รอบรู้เรื่องกู้ยืม
24 ต.ค. 2567

การโอนเล่มรถยนต์เป็นขั้นตอนสำคัญเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของรถ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การให้ หรือการรับมรดก ซึ่งการดำเนินการอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันปัญหาทางกฎหมายและความรับผิดชอบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงช่วยให้การดำเนินการขอสินเชื่อรถแลกเงินเป็นไปอย่างราบรื่น

เพราะการโอนเล่มรถยนต์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของใหม่ จะเป็นการยืนยันสิทธิ์ของเจ้าของใหม่ในการครอบครองและใช้งานรถอย่างถูกต้อง นอกจากนี้หากในอนาคตเกิดเหตุจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉินที่ทำให้ต้องใช้เงินก้อน และต้องกู้ขอสินเชื่อรถยนต์ก็สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาไปโอนเล่มทะเบียนหรือเตรียมเอกสารมอบอำนาจ

บทความนี้ ttb DRIVE ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์มาแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการโอนรถ ค่าธรรมเนียม และเอกสารโอนรถที่ต้องเตรียมให้พร้อม เพื่อให้คุณสามารถเตรียมความพร้อมและดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น

การโอนเล่มรถยนต์คืออะไร


การโอนเล่มรถยนต์คืออะไร?

การโอนเล่มรถยนต์ หรือการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของรถในทะเบียนรถยนต์จากเจ้าของคนเดิมเป็นเจ้าของคนปัจจุบัน เมื่อมีการซื้อขาย ยกให้ หรือรับมรดกรถยนต์ หากไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ถูกต้อง และมีการนำรถยนต์ไปใช้ในทางผิดกฎหมายจนมีคดีความ เจ้าของรถคนเก่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

นอกจากนี้ การโอนเล่มรถยนต์ยังเป็นการยืนยันสิทธิ์ของเจ้าของใหม่ในการครอบครองและใช้งานรถอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เมื่อต้องการขอสินเชื่อหรือซื้อประกันรถยนต์ก็จะสามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาไปโอนเล่มรถยนต์ หรือทำหนังสือมอบอำนาจ


การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์มีกี่แบบ

การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์สามารถทำได้ 2 แบบ ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีและข้อควรระวังแตกต่างกัน ดังนี้

1. การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนตรง

การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนตรงเป็นวิธีที่ปลอดภัยและเป็นทางการที่สุด โดยทั้งผู้โอน (เจ้าของเก่า) และผู้รับโอน (เจ้าของใหม่) จะต้องไปดำเนินการพร้อมกันที่กรมขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งในพื้นที่ โดยสิ่งสำคัญของการโอนกรรมสิทธิ์รถแบบโอนตรงคือ รถยนต์คันที่ต้องการโอนเล่ม จะต้องมีสภาพตรงกับข้อมูลในใบคู่มือจดทะเบียน จึงจะสามารถโอนเล่มได้ หากข้อมูลไม่ตรงก็จะต้องกลับไปแก้ไขข้อมูลให้ตรงกับสภาพจริงก่อน

ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกฉ้อโกง หรือเกิดปัญหาทางกฎหมายในภาพหลังเนื่องจากเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารและยืนยันตัวตนของทั้งสองฝ่ายโดยตรง ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์มีความถูกต้องและสมบูรณ์มากที่สุด

2. การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนลอย

การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนลอยเป็นวิธีที่สะดวกกว่า แต่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยวิธีนี้ ผู้โอน (เจ้าของเก่า) จะเซ็นเอกสารการโอนและมอบให้ผู้รับโอน (เจ้าของใหม่) ไปดำเนินการเองหลังเสร็จสิ้นการซื้อ-ขาย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในกลุ่มเต็นท์รถมือสอง เพราะมีความสะดวกสบายและประหยัดเวลาในการดำเนินการ

แต่วิธีนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าการโอนตรง เพราะหากเจ้าของใหม่มีการนำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้ในทางผิดกฎหมาย ในขณะที่ยังไม่ได้ดำเนินการโอนเล่มรถยนต์ให้เสร็จเรียบร้อย เจ้าของเก่าก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมายแทน


เอกสารการโอนรถยนต์มีอะไรบ้าง

สำหรับคำถามว่า โอนรถใช้เอกสารอะไรบ้าง? ก็คงจะต้องแบ่งเอกสารโอนรถออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

เอกสารโอนรถแบบโอนตรง

  • เล่มทะเบียนรถยนต์ (สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ)
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้โอนและผู้รับโอน พร้อมสำเนา
  • สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
  • แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียบร้อยแล้ว (สามารถขอรับได้ที่กรมขนส่งทางบก)

เอกสารโอนรถให้ญาติหรือผู้รับมรดก

  • เล่มทะเบียนรถยนต์ (สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ)
  • แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียบร้อยแล้ว (สามารถขอรับได้ที่กรมขนส่งทางบก)
  • สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
  • กรณีเจ้าของเดิมเสียชีวิต ต้องมีสำเนาใบมรณบัตรของเจ้าของรถ และคำสั่งศาลหรือพินัยกรรม พร้อมสำเนาที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนเจ้าของ
  • หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ (เจ้าของเดิม) และผู้รับมอบอำนาจ (เจ้าของใหม่)

เอกสารโอนรถแบบโอนลอย

  • เล่มทะเบียนรถยนต์ (สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ)
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้โอนและผู้รับโอน พร้อมสำเนา
  • สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
  • แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียบร้อยแล้ว (สามารถขอรับได้ที่กรมขนส่งทางบก)
  • หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (เจ้าของใหม่)


ขั้นตอนการโอนรถมีอะไรบ้าง?

ขั้นตอนการโอนรถยนต์สามารถดำเนินการได้ที่กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งในพื้นที่ โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. เตรียมเอกสารให้ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ข้างต้น
  2. นำรถยนต์ไปตรวจสภาพที่สถานตรวจสภาพรถของกรมการขนส่งทางบก
  3. ติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขอโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมเอกสารประกอบ และชำระค่าธรรมเนียม
  4. หลังดำเนินการเสร็จแล้ว ให้รอรับเล่มทะเบียนรถที่เปลี่ยนชื่อเจ้าของเรียบร้อยแล้ว พร้อมใบเสร็จรับเงิน เครื่องหมายการเสียภาษี และแผ่นป้ายทะเบียนรถ

ซึ่งโดยปกติแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 15 วันทำการในการรอเล่ม และหลังจากยื่นเรื่องโอนรถเสร็จแล้ว จะต้องมีการแจ้งนายทะเบียนภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันโอน หากไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะมีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท

โอนรถยนต์ที่ไหนได้บ้าง


โอนรถยนต์ที่ไหนได้บ้าง

สำหรับคนที่ต้องการโอนรถยนต์ สามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานขนส่งในพื้นที่ ดังนี้

  • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร สำหรับรถยนต์ที่มีทะเบียนกรุงเทพฯ หรือคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ โดยมีทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่
    • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1: บางขุนเทียน
    • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2: ตลิ่งชัน
    • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3: สุขุมวิท
    • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4: หนองจอก
    • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5: จตุจักร
  • สำนักงานขนส่งจังหวัด สำหรับเจ้าของรถและรถยนต์ที่อยู่ต่างจังหวัด สามารถเข้าไปดำเนินการยังสำนักงานขนส่งประจำจังหวัดที่อาศัยอยู่ได้
  • สำนักงานขนส่งจังหวัด ตามที่ระบุไว้ในคู่มือจดทะเบียน สำหรับผู้ที่ไม่รู้ว่าจะไปโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ไหนดี ก็สามารถดำเนินการที่สำนักงานขนส่งที่ระบุไว้ในคู่มือจดทะเบียนได้


ค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์

  • ค่าคำขอโอนรถยนต์ 5 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการโอน 100 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 500 บาทต่อการประเมินรถยนต์ 100,000 บาท
  • ค่าแผ่นป้ายทะเบียนใหม่ (ถ้าต้องการเปลี่ยน) 200 บาท
  • ค่าเปลี่ยนเล่มทะเบียน (กรณีเล่มเดิมชำรุด) 100 บาท


สรุปบทความ

การโอนเล่มรถยนต์ เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยยืนยันกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้กับผู้รับโอน (เจ้าของใหม่) และช่วยปกป้องสิทธิทางกฎหมายของทั้งผู้โอนและผู้รับโอน ทั้งนี้ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับการเตรียมเอกสารในการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้พร้อม เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น

สุดท้ายนี้สำหรับคนที่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เรียบร้อยแล้ว และต้องการจำนำทะเบียนรถ เพื่อรับเงินก้อนมาหมุนเวียนใช้จ่ายยามจำเป็น สามารถใช้บริการจำนำทะเบียนรถ ของทีทีบีไดรฟ์ ที่มีจุดเด่นน่าสนใจมากมาย ดังนี้

  • ไม่โอนกรรมสิทธิ์รถเป็นชื่อธนาคาร
  • รู้ผลอนุมัติเบื้องต้นไวใน 30 นาที
  • ดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.54% ต่อเดือน หรือ 12% ต่อปี
  • วงเงินสินเชื่อสูงสุด 100%
  • ผ่อนสบายสูงสุด 72 เดือน
  • วางแผนโปะ/ปิดบัญชีก่อนกำหนดได้
  • ไม่มีค่าธรรมเนียม
  • ลูกค้าทีทีบีไดรฟ์สมัครง่าย ใช้บัตรประชาชนใบเดียว
  • รถปลอดภาระแล้ว หรือรถผ่อนอยู่ก็กู้ได้

*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง 12% - 23.00% ต่อปี