- จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต ระยะเวลาเคลียร์หนี้นานขึ้น
- The 5Cs of Credit ธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ดูจาก 5 สิ่งนี้
แม้ว่าการไม่มีหนี้จะเป็นลาภอันประเสริฐ แต่หากเกิดเหตุผกผันมาสู่วันที่การเงินไม่เป็นใจ รายได้ที่เคยได้รับกลับน้อยลงในขณะที่รายจ่ายมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ ใครหลายคนอาจเลือกใช้วิธีจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำเพื่อให้ยังคงแบกรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไหว ทว่าด้วยสุขภาพทางการเงินที่ทรุดตัวลงนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องลงทุนครั้งใหม่อย่างการขอสินเชื่อบ้าน เสถียรภาพทางการเงินปัจจุบันจะสามารถทัดทานแรงกดดันที่เพิ่มเข้ามานี้ได้
จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต ไม่ได้เสียแค่ดอกเบี้ย
การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตหรือการจ่ายไม่เต็มจำนวนตามใบแจ้งยอดชำระ มักมาพร้อมดอกเบี้ยที่สูงถึง 16% ต่อปี การต้องเสียเงินเพิ่มกว่าที่ควรจะเป็นนี้เองจึงเป็นเสมือนกลเหล็กของนักช้อปให้ไม่เผลอลืมตัวใช้บัตรเครดิตจน ยอดเงินที่ใช้สูงเกินชำระไหว เพราะการจ่ายบัตรเครดิตไม่ครบตามจำนวนในใบแจ้งยอดชำระไม่เพียงจะสร้างดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในบัญชีแบบ ทบทวี ทว่ายังสร้างภาระหนี้ที่กองสะสมขึ้นทุกวันจนอาจส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินและการขอสินเชื่อในอนาคตอีกด้วย
ttb มีวิธีคิดดอกเบี้ยจากการชำระขั้นต่ำดังนี้
สูตรคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย = (จำนวนเงินที่รูดบัตร x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวัน) / 365
อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตของ ttb อยู่ที่ 16% ต่อปี ดังนั้นแล้วเมื่อมีการชำระเงินในจำนวนขั้นต่ำ การคิดดอกเบี้ยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ดอกเบี้ยของยอดใช้จ่ายทั้งหมด นับจากวันที่บันทึกรายการ ถึง วันสรุปยอดค่าใช้จ่าย
- ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ นับจากวันที่ชำระขั้นต่ำ ถึง วันที่สรุปยอดของเดือนถัดไป
เมื่อเราเริ่มต้นจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเมื่อไหร่ ยอดเงินที่เราต้องจ่ายในรอบชำระต่อไปก็จะเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ย ดังนั้นแล้ววิธีใช้บัตรเครดิตของนักช้อปที่รักความคุ้มค่าในทุกการใช้จ่ายคือการชำระเต็มจำนวนอย่างตรงเวลาทุกครั้งเพื่อจะได้ไม่ต้องมาแบกรับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจนอาจจะสะสมเป็นเงินก้อนโตในระยะยาว
นอกจากดอกเบี้ย จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตยังต้องเสียอะไรอีกบ้าง
แม้หลายคนจะมองว่าจ่ายขั้นต่ำไปก่อนค่อยเสียดอกเบี้ยทีหลังก็ยังได้ แต่ทว่าสิ่งที่ต้องเสียไปในภายหลังอาจไม่ใช่แค่ดอกเบี้ยเท่านั้น ทว่ากลับเป็นการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ให้ตัวเอง เพราะเมื่อใช้บัตรเครดิตรูดจ่ายจนยอดชำระบานปลาย หากค้างชำระเป็นเวลาเกินกว่า 3 เดือน ยอดที่ต้องชำระนี้จะกลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL (Non-Performing Loan) และส่งผลเสียต่อสุขภาพทางการเงิน ไม่ว่าจะ
- ระยะเวลาเคลียร์หนี้นานขึ้น เพราะยิ่งหนี้สะสมเพิ่มพูนเป็นก้อนที่ใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ เวลาที่เสียไปกับการทยอยชำระหนี้ก็จะนานขึ้นเท่านั้น แทนที่เงินส่วนนี้จะนำไปใช้จ่ายกับเรื่องอื่นๆ เช่น การออมหรือการลงทุน กลับต้องนำมาใช้คืนบัตรเครดิตแถมมีดอกเบี้ยพ่วงด้วย
- ส่งผลเสียต่อเครดิตทางการเงิน เพราะเมื่อเราไม่สามารถชำระบัตรเครดิตได้ตามที่ใช้จ่ายไปจริงเท่ากับว่าความน่าเชื่อถือในความสามารถชำระหนี้ของเราก็จะลดลงไปด้วย ทำให้เมื่อต้องการเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตหรือทำบัตรเครดิตเพิ่มอีกใบความน่าเชื่อถือที่มีก็จะลดน้อยลงและไม่ได้รับวงเงินอนุมัติหรือทำบัตรเครดิตเพิ่มได้ตามจำนวนที่ต้องการ
- มีผลต่อวงเงินที่ธนาคารจะอนุมัติให้ โดยเฉพาะเมื่อเราจำเป็นต้องขอสินเชื่อหรือทำเรื่องกู้เงินกับธนาคาร เราจะสามารถกู้เงินได้จริงเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับหนี้สินคงค้าง เพราะหากว่าเรามีหนี้ค้างชำระบัตรเครดิตอยู่ สัดส่วนหนี้ที่เราจะแบกรับได้ก็น้อยลงตามนั้น จำนวนเงินที่ธนาคารอนุมัติให้ตามสินเชื่อก็จะน้อยลงเช่นกัน
สิ่งสำคัญที่นักช้อปควรคำนึงอยู่เสมอเมื่อใช้บัตรเครดิต คือ ยอดเงินที่ใช้ (Credit Balance) และ วงเงินที่มี (Credit Limit) โดยสัดส่วนการใช้บัตรเครดิตไม่ควรเกิน 30% ของวงเงินที่มีเพื่อสภาพคล่องทางการเงินและให้เราสามารถชำระบัตรเครดิตได้เต็มจำนวน ตรงเวลา และหลีกเลี่ยงการจ่ายขั้นต่ำได้ดีที่สุด
จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตอยู่ กู้ซื้อบ้านได้ไหม
ถึงอย่างไรดี สภาพเศรษฐกิจและสถานะทางการเงินที่เป็นสิ่งไม่แน่นอนของชีวิตก็ทำให้หลายคนอาจต้องยอมจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตไปแล้ว ยอดคงค้างที่รอชำระนี้ก็จะถูกนำมาบวกเพิ่มในสัดส่วนหนี้สิน โดยคำนวณจาก หนี้สินที่มีทั้งหมด หารด้วย ทรัพย์สินที่มีทั้งหมด โดยสัดส่วนหนี้สินนี้เองคือสิ่งที่จะช่วยบอกว่าการกู้ซื้อครั้งใหญ่อย่างการกู้ซื้อบ้านและคอนโดจะเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร หากว่ามีสัดส่วนที่มากเกินไป เช่นหนี้สินเกินกว่า 40% ของทรัพย์สิน ธนาคารอาจยังคงไม่ปล่อยสินเชื่อให้เรากู้ได้ในจำนวนตามต้องการ ขึ้นอยู่กับนโยบายการให้สินเชื่อของแต่ละธนาคาร
ธนาคารอนุมัติกู้สินเชื่อหรือไม่ ดูจากอะไร
เกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารว่าจะอนุมัติสินเชื่อให้หรือไม่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ได้ให้ข้อมูลว่าแต่ละธนาคารจะมองจากองค์ประกอบต่างๆ ที่บ่งบอกสถานะความน่าเชื่อถือ หรือที่เรียกว่า The 5Cs of Credit เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงก่อนจะมีการกู้ยืมแต่ละครั้ง ได้แก่
- Character ของตัวผู้กู้ เช่นสถานะครอบครัว อายุ อาชีพ ความมั่นคงของรายได้และประวัติการชำระหนี้
- Capacity ความสามารถในการชำระหนี้ โดยดูจากรายได้หารค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สิน และข้อมูลเครดิต
- Capital เงินทุน เช่น สินทรัพย์ ความมั่งคั่งสุทธิ และบัญชีเงินฝาก
- Collateral หลักประกัน เช่น สินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกัน
- Condition ปัจจัยแวดล้อม เช่น ภาวะเศรษฐกิจ
ชวนรู้จัก อัตราหนี้สินต่อรายได้ (DTI) เหตุผลที่หลายคนกู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน
หัวใจสำคัญของนักสู้เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดี คือต้องรู้วิธีประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเองก่อนจะก้าวเข้าสู่สังเวียนของความท้าทายครั้งใหม่ เมื่อจำเป็นจะต้องทำเรื่องใหญ่ๆ อย่างการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโด สิ่งหนึ่งที่ไม่รู้ไม่ได้ คือ หนี้ก้อนนี้จะใหญ่เกินไปหรือไม่ โดยอาศัยการชั่งน้ำหนักอัตราหนี้สินต่อรายได้ หรือ (Debt to Income Ratio : DTI)
อัตราหนี้สินต่อรายได้ (DTI) = หนี้รายเดือน / รายได้ต่อเดือน x 100
ยกตัวอย่างเช่น ในแต่ละเดือนเรามีรายได้รวม 25,000 บาท และมียอดผ่อนบัตรเครดิต อยู่เดือนละ 12,000 บาท เท่ากับว่าเราจะมีอัตราหนี้สินต่อรายได้อยู่ที่ 48% แปลว่าทุก 100 บาทที่ได้รับเข้ามาเราจะต้องเสียไปกับรายจ่ายเป็นจำนวน 48 บาท
จากตัวอย่างนี้ ด้วยอัตราหนี้สินต่อรายได้เกือบ 50% นี้เองอาจเป็นส่วนช่วยสะท้อนสุขภาพทางการเงินที่แบกรับหนี้สินไว้เยอะเกินไปถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ ดังนั้นแล้ว หากไม่รีบปลดเปลื้องภาระหนี้นี้ให้เบาบางลง อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะได้รับสินเชื่อครั้งใหม่หรือเพิ่มเติมหนี้ให้หนักหนาขึ้นไปอีก
ทางที่ดีที่สุดเพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีของคนมีบัตรเครดิต คือการจัดสรรการใช้งานบัตรเครดิตอย่างเหมาะสม แบ่งสัดส่วนการใช้ไปกับเรื่องที่จำเป็น และรู้วิธี แบ่งจ่ายบัตรเครดิตอย่างไรไม่ให้หนี้บานปลาย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตได้ที่นี่ https://www.ttbbank.com/th/personal/credit-cards หรือหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ่ายขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตหรืออัตราดอกเบี้ยบัตร สามารถติดต่อสอบถามหรือขอคำแนะนำได้ที่ ทีทีบี คอนแทค เซ็นเตอร์ 1428
ที่มาข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย , Investopedia