เงินเดือน 30,000 ซื้อบ้านได้ไหม ? และ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?
ในยุคที่ค่าครองชีพสูงและราคาอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นเรื่อย ๆ การมีเงินเดือน 30,000 แต่อยากมีบ้านเป็นของตัวเองกลับทำให้หลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก เพราะ เงินเดือน 30000 ซื้อบ้านดูเหมือนจะยาก หยุดความคิดนั้นไว้ก่อน! เพราะจริง ๆ แล้ว ถ้าเรามีการวางแผนที่ดีและการเตรียมตัวอย่างรอบคอบ เราก็สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ไม่ยาก
เงินเดือน 30,000 ซื้อบ้านได้ไหม
เงินเดือน 30,000 ซื้อบ้านได้แน่นอน แต่อยู่ที่ว่าเราต้องการซื้อบ้านในราคาเท่าไรและมีภาระหนี้สินอื่น ๆ อยู่หรือไม่ เพราะคนที่มีเงินเดือน 3 หมื่น ซื้อบ้าน จะต้องดูปัจจัยหลายอย่างด้วย เช่น อัตราดอกเบี้ย ภาระหนี้สินอื่น ๆ และความสามารถในการผ่อนชำระหนี้
สิ่งสำคัญในการขอสินเชื่อบ้าน คือการคำนวณวงเงินกู้ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงรายได้สุทธิและอัตราการผ่อนชำระบ้านที่ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ ซึ่งหากเรามี เงินเดือน 30,000 เราควรเลือกบ้านที่ยอดผ่อนชำระไม่เกิน 12,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบ้านด้วย เช่น ค่าโอน ค่าประเมินทรัพย์สิน และค่าใช้จ่ายในการตกแต่งบ้าน เพื่อให้การจัดการรายได้ ค่าใช้จ่ายเป็นไปได้อย่างเหมาะสม และไม่มีภาระหนี้สินเกินควร
เงินเดือน 30,000 กู้ซื้อบ้านได้เท่าไหร่
การคำนวณวงเงินกู้สำหรับคนที่มีเงินเดือน 30,000 ซื้อบ้าน สามารถทำได้โดยการพิจารณาจากรายได้สุทธิและอัตราการผ่อนชำระบ้านที่ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้
สามารถคำนวณได้ง่าย ๆ 2 Steps ยกตัวอย่างเช่น
นางสาวสตรองมีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท และไม่มีหนี้สินใดๆ
Step ที่ 1 คำนวณความสามารถในการชำระหนี้เพื่อเตรียมผ่อนบ้าน
สูตร :
(เงินเดือน x ภาระหนี้ 40%) – หนี้สินปัจจุบัน = ความสามารถผ่อนชำระหนี้ต่อเดือน
(30,000 x 40%) – 0 = 12,000 บาท
จากสูตรนี้ จะเห็นว่านางสาวสตรองมีความสามารถในการผ่อนอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท/เดือน
นำข้อมูลนี้มาคำนวณต่อ เพื่อประเมินวงเงินที่สามารถขอสินเชื่อ หรือกู้ได้
Step 2 คำนวณประมาณการวงเงินที่สามารถกู้ซื้อบ้านได้
สูตร :
ประมาณการวงเงินกู้สูงสุด
= (ความสามารถผ่อนชำระหนี้บ้านต่อเดือน x 1,000,000) / 7,000 บาท
= (12,000 x 1,000,000) / 7,000 = 1.71 ล้านบาท
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่านางสาวสตรอง สามารถซื้อบ้านได้ราคาประมาณที่ 1.71 ล้านบาท เพื่อให้สามารถผ่อนไหว ไม่หนักเกินไป และยังมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงอยู่
หมายเหตุ:
- อัตราภาระหนี้ 40% ของรายได้ เป็นค่ากลางที่ใช้เพื่อการคำนวณได้สะดวก ในทางปฏิบัติอาจยืดหยุ่นได้ระหว่าง 35-45% ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล
- อัตราส่วนจำนวนเงินผ่อนต่องวด 7,000 บาท ต่อยอดหนี้ 1 ล้านบาท เป็นหลักเกณฑ์คำนวณเบื้องต้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาผ่อนชำระ
5 เทคนิคเตรียมพร้อมกู้บ้านคนเงินเดือน 30,000 ให้ผ่านฉลุย
แม้ว่าการมี เงินเดือน 30,000 อาจทำให้เรากังวลเรื่องการกู้บ้าน แต่หากมีการเตรียมตัวที่ดี เราก็สามารถเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อได้ มาดูกันว่ามีเทคนิคอะไรบ้าง
1. เลือกบ้านที่ยอดผ่อนไม่เกิน 40% ของเงินเดือน
สำหรับคนที่มีเงินเดือน 30,000 ซื้อบ้าน การเลือกบ้านที่มีค่าผ่อนไม่เกิน 12,000 บาทต่อเดือน (40% ของเงินเดือน 30,000) จะช่วยให้เรามีโอกาสผ่านการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น สามารถจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องมีภาระหนักเกินไป
2. ศึกษาเงื่อนไขการกู้ให้ดี
การศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขของการกู้ซื้อบ้านจากธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ จะช่วยให้เราเข้าใจรายละเอียดและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น
- อัตราดอกเบี้ยและประเภทดอกเบี้ย (คงที่หรือลอยตัว)
- ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด
- ค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าประเมิน ค่าจดจำนอง
- โปรโมชันพิเศษ เช่น ฟรีจดจำนอง ฟรีค่าประเมิน ฟรีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยหรือไม่ หรืออัตราดอกเบี้ยพิเศษในช่วงแรกเป็นอย่างไร
เทคนิค การเลือกอัตราดอกเบี้ยบ้าน สำหรับสายโปะ แนะนำเลือกดอกเบี้ยปีแรก ปีสอง แบบต่ำๆ แต่ถ้าเป็นสายชัวร์ แนะนำเลือกดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกแบบต่ำๆ ไปเลย
3. เตรียมเอกสารกู้ให้เรียบร้อย
การเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนและถูกต้อง จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและโอกาสในการได้รับอนุมัติ โดยเอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมสำหรับคนที่มีเงินเดือน 30,000 ซื้อบ้าน ได้แก่
- สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน
- สลิปเงินเดือน 6 เดือนล่าสุด กรณีไม่มีสลิปเงินเดือนใช้หนังสือรับรองเงินเดือน อายุไม่เกิน 2 เดือน
- Statement บัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน
- หนังสือรับรองการทำงานอายุไม่เกิน 1 เดือน
- เอกสารแสดงทรัพย์สิน หรือหลักฐานการออม (ถ้ามี)
4. อย่าลืมเตรียมเงินดาวน์และค่าใช้จ่ายส่วนแรก
การเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนแรกเป็นสิ่งสำคัญ ควรเตรียมเงินดาวน์ให้พร้อมเพื่อช่วยลดภาระการกู้ โดยเงินดาวน์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 20% ของมูลค่าบ้าน ซึ่งคนที่มีเงินเดือน 30,000 ซื้อบ้าน
ค่าใช้จ่ายที่ควรเตรียม
- เงินดาวน์ (ประมาณ 5-20% ของราคาบ้าน)
- ค่าจดจำนอง (ประมาณ 1% ของวงเงินกู้)
- ค่าประเมินหลักประกัน (ประมาณ 3,000-5,000 บาท)
- ค่าอากรแสตมป์ (0.05% ของวงเงินกู้)
- ค่าประกันอัคคีภัย
- เงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม หากธนาคารที่คุณขอสินเชื่อบ้านนั้น มีโปรโมชัน ฟรี ค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็จะช่วยประหยัดเงินส่วนนี้ไปได้อย่างมากเลยทีเดียว
5. สร้างเครดิตการเงินให้ดี
สำหรับคนที่มีเงินเดือน 30,000 ซื้อบ้าน การมีเครดิตการเงินที่ดีจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการกู้ซื้อบ้าน เช่น การชำระหนี้สินต่าง ๆ ตรงเวลา และไม่ค้างชำระหนี้ต่างๆ จะช่วยสร้างประวัติการเงินที่ดี การสร้างเครดิตเหล่านี้จะทำให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินมั่นใจในการให้กู้แก่เรา
วิธีสร้างเครดิตที่ดี
- ชำระบัตรเครดิตและหนี้สินอื่นๆ ตรงเวลาเสมอ
- ใช้บัตรเครดิตอย่างรับผิดชอบ ไม่ใช้เกินความจำเป็น
- หลีกเลี่ยงการขอสินเชื่อหลายที่ในเวลาใกล้เคียงกัน
- รักษาบัญชีเงินฝากให้มีความเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ
เกร็ดความรู้ : เราสามารถขอดูรายงานเครดิตบูโรของตัวเองได้ฟรีปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง
6. เคลียร์หนี้ให้เหลือน้อยที่สุด
ยิ่งมีภาระหนี้น้อย จะช่วยเพิ่มโอกาสในการกู้ผ่านได้ง่ายขึ้น และช่วยให้เราสามารถจัดการการเงินได้ดีขึ้นในระยะยาว
วิธีจัดการหนี้
- จัดลำดับความสำคัญของหนี้ และทยอยชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน
- พิจารณารวมหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ย
- หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ใหม่ในช่วง 6-12 เดือนก่อนยื่นขอสินเชื่อบ้าน
สรุปเรื่องการซื้อบ้านของคนเงินเดือน 30,000
สำหรับคนที่มีเงินเดือน 30,000 ซื้อบ้าน อาจดูเป็นเรื่องยาก แต่หากมีการวางแผนที่ดีและการเลือกสินเชื่อที่เหมาะสม เราก็สามารถก้าวสู่การเป็นเจ้าของบ้านได้
ทีทีบี เราเข้าใจความฝันของคุณและพร้อมช่วยให้คุณเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น ด้วยสินเชื่อบ้านใหม่ บ้านมือสอง อยากกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนต่อเดือนสบาย ให้วงเงินสูง 100% และมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการถึงที่ ขอสินเชื่อบ้านได้ง่ายๆ 3 ช่องทางได้แก่ 1. เจ้าหน้าที่ประจำโครงการคอนโด/หมู่บ้าน 2 ช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ทีทีบี และ 3 แอป ttb touch
หมายเหตุ : กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว : อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง 4.89% - 6.73% ต่อปี(MRR = 7.83%ต่อปี ณ วันที่ 3 ต.ค. 66) • อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ • เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด