- มนุษย์เงินเดือนลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง
- บริจาคคะแนนสะสมบัตรเครดิตสามารถลดหย่อนภาษีได้จริงหรือ?
ช่วงเดือนมกราคมจนถึงมีนาคมของทุกปี เหล่าคนทำงานทุกคนจะต้องทำหน้าที่ยื่นภาษี เพื่อแจ้งรายละเอียดเงินได้และค่าลดหย่อนภาษีต่อกรมสรรพากร สำหรับบุคคลธรรมดาหรือมนุษย์เงินเดือน ที่จะต้องเริ่มยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นครั้งแรก อาจยังไม่รู้วิธีคำนวณภาษีว่าต้องทำอย่างไร และมีรายได้เท่าไรถึงจะต้องเสียภาษี
รู้ได้อย่างไรว่า เราต้องเสียภาษีเท่าไร
ก่อนการยื่นภาษีทุกครั้งเราจะต้องคำนวณหาเงินได้สุทธิว่า รายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และค่าลดหย่อนภาษีเกินขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด หรือเกิน 150,000 บาทหรือไม่ โดยสามารถคำนวณภาษีตามสูตร ดังนี้
จำนวนเงินได้ทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
รายได้เท่านี้ ต้องเสียภาษีเท่าไร
- เงินได้สุทธิ 0 - 150,000 ได้รับการยกเว้นการเสียภาษี
- เงินได้สุทธิ 150,001 - 300,000 บาท อัตราภาษี 5%
- เงินได้สุทธิ 300,001 - 500,000 บาท อัตราภาษี 10%
- เงินได้สุทธิ 500,001 - 750,000 บาท อัตราภาษี 15%
- เงินได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
- เงินได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
- เงินได้สุทธิ 2,000,001 - 5,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
- เงินได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
ในแต่ละปี มีอะไรใช้ลดหย่อนภาษีได้บ้าง
ค่าลดหย่อนภาษี คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่กฎหมายกำหนด สามารถนำไปหักออกจากจำนวนเงินได้ทั้งปีหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งค่าลดหย่อนภาษีนี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการคำนวณภาษี ที่จะช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลง หรืออาจทำให้ได้รับเงินคืนภาษีเพิ่มขึ้น สำหรับรายการลดหย่อนภาษีที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร มีดังนี้
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายคู่สมรส สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย กรณีที่คู่สมรสไม่มีเงินได้ สามารถหักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท
- ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
- บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยเงื่อนไขคือ ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย หักลดหย่อนได้ไม่จำกัด กรณีเป็นบุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ 3 คน จะนำบุตรบุญธรรมมาหักอีกไม่ได้
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันชีวิต สำหรับกรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อน และได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยสามารถซื้อหน่วยลงทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
- เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย หักค่าลดหย่อนตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
- ค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
- ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ละคราวไม่เกิน 60,000 บาท
- เงินลงทุนในหุ้น หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากโครงการ Easy E-Receipt ปี 2567 ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่ได้จากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ไม่เกิน 50,000 บาท นำไปลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท ในปี 2568
- เงินบริจาค สามารถหักลดหย่อนภาษีตามจำนวนเงินที่บริจาคจริง หรือหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
คะแนนสะสมบัตรเครดิต ช่วยลดหย่อนภาษีได้อย่างไร
การบริจาคคะแนนสะสมบัตรเครดิต เป็นอีกวิธีที่สามารถหักลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร โดยจะต้องเป็นการบริจาคผ่านหน่วยงานที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงาน มูลนิธิ หรือองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยการบริจาคคะแนนสะสมบัตรเครดิต สามารถหักลดหย่อนภาษีตามจำนวนเงินที่บริจาคจริง หรือหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหน่วยงานที่เปิดรับการบริจาค
สำหรับผู้ถือบัตรเครดิต ttb สามารถแลกของรางวัล ttb rewards plus หรือแลกคะแนนสะสมบัตรเครดิต เพื่อการบริจาคให้กับมูลนิธิที่เข้าร่วมโครงการตามที่ธนาคารกำหนด โดยคะแนนบัตรเครดิต ทุก 1,000 คะแนน จะเป็นการบริจาคเงินจำนวน 100 บาท
มูลนิธิที่สามารถบริจาคคะแนนสะสม บัตรเครดิต ทีทีบี ได้
- มูลนิธิทีทีบี
- มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ
- มูลนิธิศุภนิมิต แห่งประเทศไทย
- มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน
- ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
- สภากาชาดไทย
- มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม
- มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก
- มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
- มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- มูลนิธิรามาธิบดีฯ
- ศิริราชมูลนิธิ
- โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
- มูลนิธิบ้านบางแคในพระอุปถัมภ์ฯ
- มูลนิธิกำลังใจ
- มูลนิธิอาสาอนามัยชนบท
- มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย
- มูลนิธิสัมมาชีพ
- มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ
โดยธนาคารจะนำส่งข้อมูลของผู้ถือบัตร (ชื่อ, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์ และจำนวนเงิน) เพื่อให้มูลนิธิหรือหน่วยงานจัดส่งใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์ ตามที่อยู่ในใบแจ้งหนี้ที่ได้ให้ไว้กับธนาคาร ภายใน 45 วัน กรณีแลกคะแนนสะสมบัตรเครดิตเพื่อบริจาค ภายในวันที่ 1-31 ธันวาคมของทุกปี จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ในปีถัดไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ทีทีบี คอนแทค เซ็นเตอร์ 1428
หรือหากสนใจสมัครบัตรเครดิต ttb สามารถสมัครบัตรเครดิต โดยลงทะเบียนได้เลยผ่านทางเว็บไซต์ https://www.ttbbank.com/th/personal/credit-cards เจ้าหน้าที่จาก ttb พร้อมติดต่อกลับในวันทำการ
“ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี”
ที่มาข้อมูล :
https://www.rd.go.th/557.html