- Digital Footprint ส่งผลกับชีวิตเราอย่างไร
- วิธีหลีกเลี่ยงการทิ้งรอยเท้าทางดิจิทัล
ไม่ว่าจะในโลกความจริงหรือโลกดิจิทัล การกระทำมีผลของมันเสมอ เช่นเดียวกับพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ต การใช้งานโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่าง ๆ สามารถทิ้งร่องรอยและประวัติการใช้งานของเราเอาไว้ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเราได้
Digital Footprint คืออะไร?
Digital Footprint คือ รอยเท้าบนโลกดิจิทัล รวมทั้งพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube การพิมพ์ข้อความคอมเมนต์ การโพสต์ข้อความ วิดีโอ เขียนบล็อก การเข้าสู่เว็บไซต์ การกดไลก์เพจ หรือแชร์ข้อความ พฤติกรรมการใช้งานต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ ให้ติดตามร่องรอยถึงตัวเราได้ ซึ่งทำให้ทั้งผู้ประสงค์ร้ายสามารถเข้าถึงเข้ามูลได้ ขณะเดียวกันผู้ที่ต้องการสืบค้นประวัติของคุณก็สามารถสืบค้นได้เช่นกัน
Digital Footprint มีด้วยกัน 2 ประเภท
หากจะให้อธิบาย Digital Footprint อย่างเข้าใจและเห็นภาพแล้วนั้น จะพบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ Passive Digital Footprint และ Active Digital Footprint
Passive Digital Footprint
เป็นข้อมูลทางดิจิทัลที่เราทิ้งไว้โดยไม่เจตนา โดยไม่ตั้งใจ ไม่รู้ตัวว่าได้ทิ้งร่องรอยไว้บนอินเทอร์เน็ต เช่น IP Address รวมทั้งการค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็น Search History หรือแม้กระทั่งพาสเวิร์ดคอมพิวเตอร์ พาสเวิร์ดเข้าเว็บไซต์ที่ถูกบันทึกไว้อัตโนมัติ
Active Digital Footprint
เป็นข้อมูลทางดิจิทัลที่เปิดเผยโดยเจตนา เช่น การโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดียส่วนตัวแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube หรือการส่งอีเมล การเขียนบล็อก การคอมเมนต์เป็นข้อความหรือรูปภาพ ซึ่งสามารถสืบค้นและส่งผลต่อชีวิตเราได้
Digital Footprint กับโลกการทำงาน
Digital Footprint ที่แสดงถึงพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของเรา ยังส่งผลต่อการทำงานได้ด้วย เพราะปัจจุบันหลายองค์กรนอกจากขอดูประวัติการทำงานผ่าน Resume หรือ Portfolio แล้ว ยังเข้าไปสืบค้นประวัติของคุณผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อประกอบการพิจารณารับเข้าทำงาน เพื่อให้เข้าถึงและรู้จักตัวตนของผู้สมัครมากยิ่งขึ้น ว่ามีความเหมาะสมกับองค์กรหรือไม่
โดยจากผลสำรวจของ CareerBuilder พบว่า ผู้ประกอบการกว่า 70% ยอมรับว่าใช้โซเชียลมีเดียในการค้นหาข้อมูลผู้สมัครประกอบการพิจารณา โดยกว่า 40% ปฏิเสธที่จะรับผู้สมัครเข้าทำงานหากโพสต์ภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลในทางไม่เหมาะสม ฉะนั้นการที่จะโพสต์ ไลก์ แชร์ หรือคอมเมนต์ใด ๆ ขอให้คงความเป็นมืออาชีพ และมีความคิดสร้างสรรค์ไว้เป็นหลัก
วิธีการหลีกเลี่ยงการทิ้ง Digital Footprint
การใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลอย่างระมัดระวัง คือสิ่งที่จะช่วยหลีกเลี่ยงการทิ้งร่องรอย Digital Footprint ได้ โดยเราอาจแบ่งออกเป็นตามการใช้งานแบบ Active และ Passive ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้ดังนี้
Active Digital Footprint
- การโพสต์หรือการคอมเมนต์สามารถส่งผลดีและผลเสียต่อชีวิตของเราได้ ฉะนั้นเตือนตัวเองเสมอก่อนจะเขียนอะไรลงไป ใช้สติ และวิจารณญาณ และเขียนในเชิงที่สร้างสรรค์แทน
- ถึงจะลบโพสต์หรือคอมเมนต์ไปแล้ว แต่รอยเท้าดิจิทัลนี้ก็ยังสามารถสืบค้นได้และอยู่ตลอดไปในโลกออนไลน์ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง
- ก่อนจะรับใครเป็นเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์ไหน ให้พิจารณาให้ดี เพราะเราอาจไปเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้กับมิจฉาชีพหรือแฮ็กเกอร์ล้วงความลับแบบไม่รู้ตัว
Passive Digital Footprint
- แจ้งยกเลิกอีเมลที่ไม่ได้ใช้งาน
- ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวใน Account ต่าง ๆ
- หลีกเลี่ยงการคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ที่ไม่ใช่ Official Account เพื่อตอบแบบสอบถาม เพราะจะเป็นการดึงข้อมูลส่วนตัวของเราไปได้
- หลีกเลี่ยงการโพสต์ที่เป็นสินทรัพย์ส่วนตัวที่จะทำให้สูญเสียทรัพย์สิน เช่น โพสต์อวดบ้าน อวดรถ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการแชร์โลเคชัน เพื่อให้มิจฉาชีพเข้าถึงได้ง่าย
- ทำการตั้งค่าระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ของคุณจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และมีการแบ็กอัปข้อมูลไว้เสมอ
- ปิดโหมดบลูทูธเมื่อไม่ได้ใช้งาน เพราะเป็นช่องทางดึงข้อมูลส่วนตัวจากมิจฉาชีพ
- หมั่นอัปเดตระบบปฏิบัติของโทรศัพท์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์เสมอ
- ตรวจสอบระบบ Wi-fi สาธารณะก่อนใช้งาน ไม่ใช้ Wi-fi ที่ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว
จะเห็นว่าพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของเรามีความสำคัญมากทีเดียว สามารถส่งผลต่อความปลอดภัย การดำเนินชีวิต และอนาคตการทำงานได้เลยทีเดียว ฉะนั้นก่อนคลิกทุกครั้งให้คิดก่อนนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
- เว็บไซต์ The Matter
- เว็บไซต์ HR Note Asia
- เว็บไซต์ Cyfence