external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

รู้ให้ทัน 5 รูปแบบมิจฉาชีพออนไลน์ ที่เรารับมือได้

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #Lifestyle #cyberfraud
17 มิ.ย. 2565

  • รูปแบบการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
  • วิธีรับมือกับรูปแบบมิจฉาชีพออนไลน์ต่าง ๆ

 

เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว แต่ความสะดวกสบายอาจกลายเป็นดาบสองคม และเป็นช่องโหว่ให้เหล่ามิจฉาชีพ พบช่องทางในการหลอกลวง โดยที่มิจฉาชีพมีพัฒนาการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเช่นกัน ด้วยการสร้างกลโกงหลากหลายรูปแบบ เพื่อหลอกลวงทรัพย์สิน และข้อมูลส่วนตัวของเรา มาทำความรู้จักกับ 5 รูปแบบมิจฉาชีพออนไลน์ต่อไปนี้ และวิธีการรับมือเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ได้


เงินกู้ทิพย์ เงินกู้ออนไลน์ที่ไม่มีจริง

คนที่กำลังมองหาแหล่งเงินกู้ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาต ต้องทำการตรวจสอบให้ดี เพราะมิจฉาชีพมีการแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ในรูปแบบผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) แล้วมาหลอกลวงเงินจากคุณได้ โดยใช้วิธีการหลอกล่อจนหลงเชื่อ เช่น ปล่อยกู้ง่าย อนุมัติเร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ไม่ต้องใช้เอกสาร หรือติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ โดยช่องทางที่ใช้ติดต่อ คือ โทรศัพท์ ข้อความ (SMS) แอปฯ เงินกู้ โซเชียลมีเดียยอดนิยมต่าง ๆ


วิธีการรับมือ : ก่อนที่จะตัดสินใจกู้ เช็กสักนิดครับว่าเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Fraud/Pages/BOTLicensedLoan.aspx ก็จะช่วยป้องกันได้ในเบื้องต้น หรือกู้กับธนาคารโดยตรง

หลอกให้ลงทุน

 

ลงทุนทิพย์ หลอกให้ลงทุนผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง

อีกรูปแบบหนึ่งของกลโกงการหลอกลวงของมิจฉาชีพออนไลน์ คือ การหลอกให้ลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนสูงเกินจริง โดยจะมาในรูปแบบทั้งที่เป็นบุคคลและบริษัท (ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย) การหลอกลวงมาจากการตั้ง โซเชียลมีเดียยอดนิยม กลุ่มนักลงทุนเพื่อชี้นำการลงทุน แชร์ลูกโซ่ ซึ่งการลงทุนมีทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ สกุลเงินต่างประเทศ และเงินดิจิทัล


วิธีการรับมือ : หากชื่อบัญชีธนาคารที่ให้ร่วมลงทุนเป็นบัญชีบุคคล แสดงว่ามีโอกาสโดนหลอกสูง ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนลงทุน สามารถเช็กรายชื่อบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตได้ที่ www.sec.or.th

หลอกให้หลงรัก

 

Romance Scam / Hybrid Scam ปลอมโปรไฟล์หลอกให้หลงรัก

Romance Scam หรือ Hybrid Scam คือรูปแบบการหลอกลวงให้รัก หยอดคำหวาน พูดคุย ตีสนิท จีบผ่านทางออนไลน์ ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น การแชทส่วนตัว เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ หรือถึงขั้นหลงรักก็จะมีวิธีการหลอกล่อให้โอนเงิน เช่น ญาติป่วยแต่ยังเบิกเงินประกันไม่ได้ จะมาแต่งงานด้วยแต่ต้องชำระค่าภาษีก่อน หรือเป็นนักธุรกิจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และต้องการผู้ร่วมลงทุนด้วย โดยมิจฉาชีพพวกนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 7-30 วันเพื่อหลอกให้เหยื่อตายใจ


วิธีการรับมือ : เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพออนไลน์ Romance Scam จะดูที่ไลฟ์สไตล์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย จึงไม่ควรโพสต์เปิดเผยให้ตามรอย (Digital Footprint) ได้ ไม่ควรบอกสถานภาพและสถานะการเงินลงในโซเชียล เพราะมิจฉาชีพมักเล็งไปที่สาวโสด สูงวัย

ลิงก์ปลอม

 

แม่ค้าออนไลน์ ส่งลิงก์ปลอม หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวโอนเงิน

ช่องทางที่ถูกหลอกลวงง่ายเป็นอันดับต้น ๆ คงต้องยกให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เช่น โอนเงินไปแล้วติดต่อแม่ค้าไม่ได้ ปิดร้านหนี เปลี่ยนชื่อร้านใหม่ จ่ายเงินแล้วแต่ไม่ได้รับของแถม หรือ ส่งลิงก์ปลอมหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจสั่งซื้อ ควรตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อน เพราะถ้ายิ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงยิ่งเป็นอันตราย


วิธีการรับมือ : นอกจากการซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เป็นทางการแล้ว ก็ต้องช่างสังเกตสักนิดนะครับ หากร้านค้าขายสินค้าราคาถูกกว่าร้านอื่นเป็นพิเศษ ก็เริ่มน่าสงสัยแล้ว หรือใช้รูปของร้านอื่น มีคำพูดเร่งเร้าให้รีบโอนเงิน ขาดการรีวิวสินค้า เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์บ่อย ๆ รวมทั้งเปลี่ยนบัญชีแจ้งโอนก็เข้าข่ายต้องสงสัยแล้ว

เปิดบัญชีม้า

 

รับเปิดบัญชีม้า ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร

บัญชีม้า คือการที่มิจฉาชีพรับซื้อบัญชีธนาคารจากบุคคลอื่น หรือจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อนำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย ซึ่งมีประกาศซื้อขายทางออนไลน์แล้วในปัจจุบัน และมีความผิดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย


วิธีการรับมือ : อย่าตกเป็นเหยื่อและหลงเชื่อมิจฉาชีพออนไลน์ที่หลอกซื้อบัญชี หรือหลอกให้ไปเปิดบัญชี เพียงเพราะเห็นแก่เงิน ผลที่ตามมานั้นไม่คุ้มค่าเลย เพราะจะมีความผิดทางกฎหมาย

ทางที่ดีเราควรร่วมมือกันช่วยหยุดยั้งเหล่ามิจฉาชีพออนไลน์ให้หมดไป ใช้สติทุกครั้งก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ

หากพบเจอเหตุการณ์น่าสงสัย ให้แจ้งเบาะแสที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ส่วนกรณีเงินกู้นอกระบบ ติดต่อศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • เว็บไซต์ thansettakij.com
  • เว็บไซต์ bot.or.th
  • เว็บไซต์ antifakenewscenter.com


Sources
https://www.thansettakij.com/general-news/514657
https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Fraud/Pages/BOTLicensedLoan.aspx
https://www.thairath.co.th/business/other/2337767
https://www.antifakenewscenter.com/คลังความรู้/เตือนภัย-romance-scam-หลอกรัก-ให้ลงทุน-สูญเงินเกลี้ยง/
https://www.antifakenewscenter.com/คลังความรู้/8-วิธีสังเกตมิจฉาชีพร้านค้าออนไลน์/
https://www.thaipost.net/criminality-news/64479/