external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

5 เรื่องที่คุณต้องเตรียมพร้อม ก่อนนำรถไปแลกเงิน

#fintips #สินเชื่อรถยนต์ #รีไฟแนนซ์รถ #รถแลกเงิน #สินเชื่อรถแลกเงิน #วางแผนการเงิน #ขอสินเชื่อรถ #สมัครสินเชื่อ
8 พ.ย. 2566

5 เรื่องที่คุณต้องเตรียมพร้อม ก่อนนำรถไปแลกเงิน


รู้ไหมว่าหากเราเป็นเจ้าของรถ ก็สามารถนำรถมาแลกเป็นเงินได้ วิธีการนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับคนที่ต้องการเงินมาหมุนใช้ก่อน ซึ่งแตกต่างกับการขอสินเชื่อบุคคลค่อนข้างมาก

การขอสินเชื่อรถแลกเงินหรือสินเชื่อทะเบียนรถ จะเป็นการนำรถที่เราเป็นเจ้าของไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน หลังจากที่เราได้เงินกู้แล้ว เรายังสามารถครอบครองและนำรถไปขับขี่ได้ตามปกติ ในขณะที่สินเชื่อบุคคลจะเป็นการขอเงินกู้ไปใช้แบบเอนกประสงค์ จะนำเงินไปใช้อะไรก็ได้ และจะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่มีก็ได้ เช่น สินเชื่อเงินสด บัตรกดเงินสด

อย่างไรก็ตามการขอสินเชื่อรถแลกเงินนั้นก็มีเรื่องที่เราควรทราบ มาดูกันว่าเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรในการขอสินเชื่อรถแลกเงินให้ประสบความสำเร็จและได้รับอนุมัติเงินก้อนได้ ดังนี้

1. ผ่อนรถยังไม่หมดขอสินเชื่อได้ไหม

โดยปกติแล้วธนาคารและสถาบันการเงินจะกำหนดไว้ว่า รถที่นำมาขอสินเชื่อรถแลกเงินได้จะต้องผ่อนชำระครบเรียบร้อยแล้ว สามารถนำรถเก๋ง รถกระบะมาแลกเป็นเงินได้ โดยเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารและสถาบันการเงินนั้นๆกำหนด

แต่หากยังผ่อนรถไม่หมดก็สามารถกู้ได้เหมือนกัน โดยนำรถยนต์ที่ยังติดผ่อนอยู่มารีไฟแนนซ์ได้ ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคารและสถาบันการเงิน


2. ศึกษาข้อกำหนดก่อนการขอสินเชื่อ

อย่าลืมศึกษาข้อกำหนดในการขอสินเชื่อก่อน เช่น รถที่นำมาขอสินเชื่อได้นั้นต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปี แต่อย่างไรก็ตามรถเก่าก็สามารถขอสินเชื่อได้เช่นกัน แต่อยู่ที่ข้อกำหนดของทางสถาบันการเงินว่าสามารถกู้ได้หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับ ยี่ห้อ รุ่น ปีที่จดทะเบียน สภาพรถยนต์และรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ

และชื่อของผู้ขอสินเชื่อจะต้องเป็นชื่อเดียวกับเจ้าของรถ นอกจากนี้อย่าลืมศึกษาเรื่องระยะเวลาในการผ่อน เนื่องจากมีทั้งแบบสั้นและแบบยาวจะมีข้อแตกต่างกัน โดยการผ่อนสั้นนั้นจะมีการจ่ายเงินต้นค่อนข้างสูง ทำให้ภาระดอกเบี้ยน้อยและทำให้การผ่อนสั้นลง ในขณะที่การผ่อนยาวจะใช้เงินผ่อนต่องวดในจำนวนเงินที่น้อยกว่า ซึ่งช่วยทำให้ผู้กู้ผ่อนสบายขึ้น

การที่เราจะขอสินเชื่อรถแลกเงินจะต้องคำนวณในเรื่องภาระต่างๆให้ดี และต้องมีการวางแผนในการผ่อนสินเชื่ออย่างมีวินัย ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสี่ยงที่ทำให้เราผิดนัดชำระหนี้และเป็นผลให้เราถูกยึดรถได้


3. เตรียมพร้อมในเรื่องเอกสารก่อนการขอสินเชื่อ

อย่าลืมเตรียมพร้อมในเรื่องเอกสารให้เรียบร้อยตามที่กำหนด เพื่อให้ง่ายต่อการสมัครและการพิจารณาของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามเอกสารของแต่ละสถาบันการเงินนั้นอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง ในส่วนของสินเชื่อรถแลกเงิน ทีทีบีไดรฟ์ มีเอกสารดังนี้

  • สำเนาบัตรประชาชน / บัตรข้าราชการ จำนวน 3 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 3 ชุด
  • สลิปเงินเดือนฉบับล่าสุด หรือหนังสือรับรองรายได้
  • สำเนาบัญชีเงินฝากธนาคาร ย้อนหลัง 3 เดือน
  • สำเนาสมุดบัญชีหน้าแรกของธนาคาร เพื่อโอนเงินเข้า
  • สำเนาเล่มทะเบียนรถยนต์ / เล่มทะเบียน (ถ้ามี)


4. ขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ

การยื่นเรื่องเพื่อขอสินเชื่อรถแลกเงินนั้นควรทำกับสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และมีการดำเนินงานในธุรกิจอย่างเป็นมาตรฐาน มีความโปร่งใส สามารถติดต่อผู้ให้บริการได้หลากหลายช่องทางเมื่อพบปัญหาและต้องการสอบถามเรื่องต่างๆ


5. ศึกษาข้อควรระวังในการขอสินเชื่อรถแลกเงิน

ก่อนที่เราจะขอสินเชื่อรถแลกเงินนั้น อย่าลืมศึกษาข้อมูลค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการขอสินเขื่อ เช่น ค่าธรรมเนียมในการโอนเล่ม ค่าอากรสแตมป์ ค่าเช็กสภาพรถ นอกจากนี้เราอาจจะต้องเช็กข้อมูลค่าใช้จ่ายอื่นๆที่อาจจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในระยะยาว เช่น ในบางกรณีเราอาจจะถูกบังคับให้ทำประกันรถ และอาจจะต้องคำนวณดอกเบี้ยและเงินต้นที่เราจะต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้เราจะต้องคำนวณดูว่าเรามีกำลังที่จะจ่ายคืนไหวหรือไม่ เพราะหากเกิดขึ้นผิดพลาดก็อาจจะทำให้เราถูกติดตามหนี้สิน ทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้

บริการสินเชื่อรถแลกเงินโดย ทีทีบีไดรฟ์ สินเชื่อสำหรับคนมีรถ ต้องการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติเร็ว รับเงินไว พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อบริการถึงที่ สินเชื่อรถแลกเงินทีทีบีไดรฟ์มีทั้งแบบโอนเล่มและไม่โอนเล่ม สนใจสมัครใช้บริการ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สินเชื่อรถแลกเงิน ทีทีบีไดรฟ์ หรือสนใจสมัครสินเชื่อรถแลกเงินสมัครที่ https://www.ttbbank.com/th/personal/loans/hire-purchase/cash-your-car#register-section