external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

รู้ก่อนดีกว่า! ป้องกันโดนโกงจากมิจฉาชีพปลอมเป็นแอปสตรีมมิง

#fintips #เคล็ดลับการเงิน #รู้ทันป้องกันกลโกง #ภัยร้ายโลกไซเบอร์
15 ม.ค. 2566

  • วิธีที่มิจฉาชีพมาแอบอ้าง ทำให้คุณโดนโกง
  • วิธีสังเกตเพื่อป้องกันการโดนโกงเบื้องต้น
  • วิธีป้องกันการโดนโกงจากเหล่ามิจฉาชีพที่แอบอ้าง
  • ถ้าหากหลงกล โดนโกงจะต้องทำอย่างไร?

 

ในยุคที่ใคร ๆ หลายคน ใช้จ่ายซื้อความบันเทิงผ่านช่องทางแอปสตรีมมิงต่าง ๆ จึงทำให้เหล่ามิจฉาชีพเห็นช่องทางในการฉกฉวยเงิน หรือข้อมูลต่าง ๆ ของเราไปได้ ซึ่งถ้าหากเราไม่ระวังอาจทำให้โดนโกงได้แบบไม่รู้ตัว และเมื่อไม่นานมานี้ มีมิจฉาชีพได้แอบอ้างเป็นแอปสตรีมมิงชื่อดังอย่าง “เน็ตฟลิกซ์ (Netflix)” โดยทำการแอบอ้างส่งเมลแจ้งชำระค่าบริการ และถ้าหากเผลอกรอกข้อมูลจนครบ ก็อาจจะทำเงินเราสูญหายไปหมดบัญชีได้ แต่แน่นอนว่านอกจากเหล่ามิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นแอปพลิเคชัน เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) แล้ว ยังมีการแอบอ้างเป็นแอปสตรีมมิงอื่น ๆ เช่น สปอติฟาย (Spotify) ดิสนีย์พลัส (Disney+) หรือ เฮชบีโอ โก (HBO Go) เป็นต้น


วิธีที่มิจฉาชีพมาแอบอ้าง ทำให้คุณโดนโกง

  1. ทำการส่งอีเมล อ้างตนว่าเป็นแอปสตรีมมิงที่ให้บริการ โดยแจ้งว่า “ทางแอปไม่สามารถตัดค่าบริการได้”
  2. ให้คุณกรอกเลขและข้อมูลบัตรเครดิตของคุณใหม่ทั้งหมด
  3. ส่งหมายเลข OTP มาให้กรอก ซึ่งหากกรอกข้อมูลครบถ้วนและถูกต้อง อาจทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของคุณได้

อีเมลแอบอ้างแอปสตรีมมิง

โดยรูปแบบหน้าตาของอีเมลที่ส่งมา หากดูเบื้องต้นจะดูมีความน่าเชื่อถือ มีการจัดเรียงอีเมล และการนำโลโก้ของแอปพลิเคชันนั้น ๆ มาใส่


วิธีสังเกตเพื่อป้องกันการโดนโกงเบื้องต้น

  • แอปสตรีมมิงต่าง ๆ มักจะไม่ขอข้อมูลส่วนตัวผ่านทางข้อความหรืออีเมล ไม่ว่าจะเป็น รหัสผ่าน เลขบัตรเครดิต หรือบัญชีธนาคาร
  • จะไม่มีการให้ชำระเงินผ่านผู้ค้าหรือบุคคลที่สาม
  • สังเกตชื่อผู้ส่งผิดปกติหรือไม่ เช่น ที่อยู่ของ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) จะเป็น @netflix.com หากที่อยู่ด้านท้ายไม่ถูกต้อง สันนิฐานได้ว่าเป็นเมลจากมิจฉาชีพ
  • มีการพิมพ์ผิดหลายจุด เพราะหากเป็นข้อความจากองค์กรใหญ่จะมีการตรวจทานความเรียบร้อยเป็นอย่างดี
  • ผู้ให้บริการอีเมล แจ้งเตือนว่าจดหมายฉบับนี้เป็นสแปม ซึ่งเป็นคุณสมบัติป้องกันสแปม


วิธีป้องกันการโดนโกงจากเหล่ามิจฉาชีพที่แอบอ้าง

  • หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ที่แนบมาจากอีเมล หากไม่แน่ใจ ควรเข้าไปตรวจเช็กกับทางเว็บไซต์ของบริษัทโดยตรง
  • ไม่ส่งข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่อ่อนไหวทางการเงินผ่านอีเมล
  • ตรวจสอบที่อยู่ผู้ส่งเพื่อดูว่าถูกต้องหรือไม่
  • สำหรับผู้ที่เข้าอีเมลจากคอมพิวเตอร์ ให้นำเมาส์ลื่อนไปวางไว้บนลิงก์ก่อนคลิกเข้าไป เพื่อตรวจสอบที่อยู่ของลิงก์ว่า ไปยังเว็บไซต์บริษัทโดยตรงหรือไม่
  • ติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสเพื่อช่วยปกป้องอุปกรณ์และข้อมูลส่วนตัวของคุณ


ถ้าหากหลงกลจนโดนโกงจะต้องทำอย่างไร?

  • เปลี่ยนรหัสผ่านบัญชีของคุณในทันที ควรเป็นรหัสใหม่ที่ไม่ซ้ำและคาดเดาได้ยาก และอย่าลืมที่จะอัปเดตรหัสผ่านในเว็บไซต์อื่น ๆ ที่คุณใช้อีเมลและรหัสผ่านเดียวกัน เพื่อป้องกันการนำข้อมูลที่คุณเผลอกรอกไปใช้งานต่อ
  • ติดต่อสถาบันการเงินของคุณหากมีการป้อนข้อมูลการชำระเงิน เพื่อขอความช่วยเหลือไม่ให้โดนโกงเงินในบัญชีของคุณ

และถ้าหากคุณได้รับอีเมลแจ้งให้ชำระค่าบริการต่าง ๆ ก็อย่าลืมตรวจสอบให้ดี และในการกรอกข้อมูลต่าง ๆ ก็ควรกรอกผ่านเว็บไซต์ทางการของผู้ที่ให้บริการแอปพลิเคชันนั้นโดยตรง เพื่อไม่ให้โดนโกง และเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลและเงินในบัญชีของคุณครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • เว็บไซต์ Netflix
  • เว็บไซต์ thairath
  • เว็บไซต์ it24hrs
  • เว็บไซต์ mgronline


Sources
https://help.netflix.com/th/node/65674
https://www.thairath.co.th/news/society/2516540
https://www.it24hrs.com/2022/7-signs-email-phishing-scams/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000094565