- รูปแบบกลโกงออนไลน์ที่พบได้บ่อย
- มิจฉาชีพบนโซเชียลมีเดีย การชวนให้โอนเงิน กู้เงิน หรือทำให้หลงเชื่อผ่านโซเชียลมีเดีย
- อีเมลหลอกลวง (Phishing) ไม่ว่าจะขอข้อมูลส่วนตัวหรือติดตั้งมัลเเวร์
- การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Data Theft) ผ่านอินเทอร์เน็ต
แน่นอนว่าโลกออนไลน์ทำให้หลาย ๆ คน ใช้ชีวิตได้สบายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสื่อสาร หรือแม้แต่ของการชำระค่าใช้จ่ายในยุคสังคมไร้เงินสดแบบนี้ แต่ด้วยความสะดวก รวดเร็ว แบบนี้ มักจะมีภัยร้ายจากเหล่ามิจฉาชีพแอบแฝงมาอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราเป็นอย่างมาก
โดยจะมากับพร้อมกับกลโกง ที่ล่อลวงให้เสียทรัพย์ โอนเงินจนหมดตัว แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อย ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตกเป็นเหยื่อจากเหล่ามิจฉาชีพที่เปลี่ยนกลโกง และรูปแบบการหลอกลวงไปเรื่อย ๆ
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับกลโกงออนไลน์ที่สามารถพบได้บ่อยครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันตัวคุณ และคนใกล้ตัวครับ
รูปแบบกลโกงที่พบได้บ่อย
กลโกงแบบที่ 1 มิจฉาชีพบนโซเชียลมีเดีย (Social Media)
มักจะมาในรูปแบบของการชวนกู้เงิน หรือให้โอนเงินเพื่อนำไปลงทุน โดยนำยอดกำไรที่คุณจะได้รับในมูลค่าที่สูงมากเกินจริง ถ้าหากเทียบกับเงินลงทุนที่คุณต้องโอนไป หรือแม้แต่ในบางครั้ง ก็จะปลอมมาเป็นเพื่อนหรือคนใกล้ตัวของคุณ ติดต่อมาเพื่อขอยืมเงินคุณนั่นเอง
วิธีป้องกันกลโกงมิจฉาชีพบนโซเชียลมีเดีย
- อย่าหลงเชื่อข้อความโฆษณาเกินจริง หรือข้อความต่าง ๆ ที่ไม่ได้มาจากแหล่งการเงินโดยตรง
- ควรตรวจสอบสลิปโอนเงิน และชื่อผู้รับให้มั่นใจก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง เพราะบางครั้งมิจฉาชีพก็จะปลอมมาเป็นคนใกล้ตัว หรือสถาบันการเงิน ทำให้เราโอนเงินไปให้กับเหล่าผู้ไม่หวังดีได้
- หากมีมิจฉาชีพปลอมเป็นคนใกล้ตัว ควรติดต่อโดยตรงผ่านช่องทางอื่นเพื่อยืนยันตัวตน และจุดประสงค์ก่อน
กลโกงแบบที่ 2 อีเมลหลอกลวง (Phishing)
อีกหนึ่งช่องทางที่หลาย ๆ คนนิยมใช้ในชีวิตประจำวันก็คือ อีเมล ไม่ว่าจะใช้ทำงาน ส่งงาน หรือสำหรับการสมัครงาน ทำให้เหล่ามิจฉาชีพ คิดกลโกงมา เพื่อสร้างความเดือดร้อนให้คุณได้ โดยการแอบอ้างเป็นธนาคารพาณิชย์ เพื่อหลอกให้ทำธุรกรรม หรือกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต หรือในบางครั้งจะส่งมัลแวร์ (Malware) แนบมากับไฟล์ หรือลิงก์ในอีเมล ทำให้คอมพิวเตอร์ของคุณเกิดความเสียหายได้
วิธีป้องกันกลโกงจากอีเมลหลอกลวง
- สังเกตอีเมลที่ได้รับข้อความ ไม่ได้ใช้เป็นอีเมลที่เคยใช้ติดต่อกับบริษัทที่ส่งมา
- ที่อยู่อีเมลสำหรับตอบกลับดูผิดปกติ
- มีการแนบไฟล์ หรือลิงก์ที่ดูน่าสงสัย (ไม่ควรคลิกเข้าไป)
- มีการขอข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสผ่าน หรือ หมายเลขบัตรเครดิต เป็นต้น
ฉะนั้นหากเจอกลโกงจากอีเมล ป้องกันง่าย ๆ อย่าลืม "คิด" ก่อน "คลิก" นะครับ
กลโกงแบบที่ 3 การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Data Theft)
กลโกงรูปแบบนี้จะเป็นการโจรกรรมข้อมูลของคุณ ผ่านทางเว็บไซต์ และบริการสาธารณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้อยู่ โดยเหล่ามิจฉาชีพจะขโมยข้อมูลที่สำคัญของคุณไป เช่น ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน รหัสผ่าน หรือข้อมูลบัตรเครดิต ซึ่งนั้นทำให้ข้อมูลของเราถูกนำไปกระทำในด้านที่เสียหายได้
วิธีป้องกันกลโกงจากการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล
- ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว โดยไม่จำเป็น
- ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ว่าเว็บไซต์ที่ใช้งานมีการถูกขโมยข้อมูลหรือไม่
- หากมีสิ่งน่าสงสัยให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่าน และหาวิธีป้องกันเพื่อลดความเสียหาย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนนึงของกลโกงออนไลน์ที่สามารถพบเห็นกันได้บ่อย ๆ นะครับ แต่แน่นอนว่าเหล่ามิจฉาชีพก็พยายามที่จะคิดค้นหาวิธีการและช่องทางกลโกงใหม่ ๆ ขึ้นมาเสมอ เพื่อที่จะได้หลอกเอาทรัพย์สินของเราไป เพราะฉะนั้นทุกท่านต้องคอยระวัง และติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้รู้เท่าทัน ป้องกันได้ทันการณ์ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
- เว็บไซต์ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย
- เว็บไซต์ it24hrs
- เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
- เว็บไซต์ หน่วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
- เฟซบุ๊ก โทรคมนาคมแห่งชาติ
Sources
- https://www.antifakenewscenter.com
- https://www.it24hrs.com/2022/fake-story-in-social/
- https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256203FinancialWisdom.aspx
- https://it.edu.cmu.ac.th/news/3193-financialwisdom
- https://www.facebook.com/NTplc/posts/293050469225968/