external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

อ่านที่เดียวจบ ครบ เรื่องรายการลดหย่อนภาษีปี 2565 มีอะไรบ้าง ?

#fintips#วางแผนการลงทุน#คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา2565#ยื่นภาษีออนไลน์2565#ssf
23 พ.ย. 2565

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากไม่วางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจจะทำให้ต้องเสียภาษีตามฐานภาษี 5% - 35% เลยก็ได้ แต่ถ้าเรามีการวางแผนภาษีที่ดีอย่างการคำนวณดูว่าในปีนี้เราต้องเสียภาษีเท่าไหร่ แล้วหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีเตรียมไว้ อาจจะทำให้เราประหยัดภาษีได้หลักหมื่น หรือหลักแสนเลยก็ว่าได้


รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี ?

รายได้เท่าไหร่ ต้องเสียภาษี?


อันดับแรกเรามาดูกันก่อนว่า ในปีปฏิทินภาษี 2565 “รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี ?” โดยจะคิดย้อนกลับจากการบวกค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และภาษีที่ได้รับการยกเว้นรวมกัน เป็นดังนี้


ดังนั้น คำตอบของคำถามรายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี นั่นก็คือมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ทั้งปีตั้งแต่ 316,300 บาทขึ้นไป หรือประมาณ 26,359 บาทต่อเดือน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าการมีรายได้เท่านี้ต้องเสียภาษีเสมอไป เพราะจากตัวอย่างข้างต้น คำนวณโดยไม่มีตัวช่วยลดหย่อนอื่น ๆ เพิ่มเติม แต่ในชีวิตจริงเราสามารถใช้ตัวช่วยลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เพื่อให้เราเสียภาษีน้อยลงหรือไม่เสียภาษีเลยได้


ตัวอย่างการใช้ตัวช่วยลดหย่อนเพื่อประหยัดภาษี

ตัวอย่างการใช้ตัวช่วยลดหย่อนเพื่อประหยัดภาษี

จากตัวอย่างข้างต้น นายทีมีรายได้ทั้งปี 500,000 บาท จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ค่าลดหย่อนประกันสังคม 6,300 บาท เมื่อคิดเงินได้สุทธิแล้วจะอยู่ที่ 333,700 บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีฐาน 10% ดังนั้นนายทีต้องเสียภาษี 10,870 บาท

แต่ถ้านายทีมีตัวช่วยลดหย่อนภาษีอย่างเช่น ลงทุนในกองทุนรวม SSF 100,000 บาท และมีประกันชีวิต 100,000 บาท จะทำให้รายได้สุทธินายทีเหลือเพียง 133,700 บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษี หรือไม่เสียภาษีเลยนั่นเอง


ยื่นภาษีบุคคลธรรมดาที่ไหนได้บ้าง ?

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น สามารถยื่นแบบเอกสารหรือกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2566 หรือจะยื่นแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะขยายไปจนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2566 แต่ถ้ายื่นภาษีไม่ทันตามเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด สามารถยื่นภาษีย้อนหลังได้โดยต้องยื่นแบบกระดาษด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และต้องเตรียมเอกสารประกอบการยื่นแบบภาษี ดังนี้

  • แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
  • เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี


ค่าปรับกรณียื่นภาษีไม่ทัน มีอะไรบ้าง ?

  • ค่าปรับตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่เกิน 2,000 บาท แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
  • หากมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษีพร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระ
  • หากไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเพียงค่าปรับตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างเดียว


รายการลดหย่อนภาษี ปี 2565 มีอะไรบ้าง ?

หลาย ๆ คน อาจจะเห็นถึงความสำคัญของการลดหย่อนภาษีกันแล้ว ดังนั้นมาดูกันดีกว่าว่ารายการลดหย่อนภาษีในปี 2565 นั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

สรุปรายการลดหย่อนภาษี ปี 2565


กลุ่มลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

  1. ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  2. คู่สมรส (จดทะเบียนสมรส-ไม่มีรายได้) 60,000 บาท
  3. บุตร หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้
    • เป็นผู้เยาว์
    • มีอายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษา
  4. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร หักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  5. ค่าดูแลเลี้ยงดูพ่อและแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จึงจะหักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนสำหรับพ่อแม่ของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
  6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท และมีบัตรประจำตัวคนพิการ


กลุ่มประกันและการลงทุน

  1. ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท แต่เนื่องจากในปี 2565 รัฐบาลมีการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 ลง 2 ครั้ง ในรอบเดือน พ.ค. - ก.ค. และ ต.ค. - ธ.ค. ทำให้ค่าลดหย่อนประกันสังคมเหลือเพียง 6,300 บาท
  2. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของเราและคู่สมรส ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  3. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  4. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้ว (ข้อ 3 + ข้อ 4) ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป
    • จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
  6. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  7. RMF คือ กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี
    • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
    • ขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  8. SSF คือ กองทุนรวมเพื่อการออม ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
    • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อและไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
  9. โดยในปี 2565 กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน SSF และ RMF จะต้องแจ้งความประสงค์การใช้สิทธิลดหย่อนกับทางบลจ. ที่ซื้อหน่วยลงทุนทราบ โดยหากไม่แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อน ผู้ลงทุนจะเสียสิทธิในการลดหย่อนภาษี SSF RMF ในปี 2565 โดยเมื่อ บลจ. ได้รับแจ้งจากผู้ลงทุนในเรื่องดังกล่าวแล้ว บลจ. จะนำส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรต่อไป สำหรับผู้ลงทุนที่ซื้อกองทุนรวม SSF RMF ผ่านธนาคารทีทีบี สามารถแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อนผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยต้องลงทะเบียนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565 รายละเอียดเพิ่มเติม
    คลิก https://www.ttbbank.com/mutual-funds/tax-amc

    วิธีการใช้สิทธิลดหย่อยภาษีของผู้ลงทุนแบบใหม่

  10. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 13,200 บาท ทั้งนี้ กองทุน RMF, กองทุน SSF, กบข.,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ

  1. ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • เป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม หรือที่อยู่อาศัย โดยเราต้องอาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย
    • ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเอง หรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม
    • ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ
    • หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถรวมกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
    • กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน
  2. เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) 100,000 บาท
  3. ช้อปดีมีคืน 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ซื้อสินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
    • ใช้สำหรับการซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 65
    • ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเท่านั้น


กลุ่มเงินบริจาค

  1. บริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
  2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา สนับสนุนกีฬา พัฒนาสังคมต่าง ๆ มูลนิธิด้านสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  3. เงินบริจาคอื่น ๆ มูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  4. และสำหรับใครที่ต้องการหากองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ทาง ttb advisory ก็มีกองทุนให้เลือกสรรมากมายตามความเสี่ยงที่รับได้ และนอกจากนี้ ยังสามารถวางแผนการลงทุนตามเป้าหมายพร้อมลดหย่อนภาษีได้ ด้วย ttb calculator และลงทุนผ่าน ttb smart port – SSF ที่มีผู้เชี่ยวชาญที่คอยดูแลบริหารจัดการพอร์ตให้อีกด้วย


กองทุนรวมลดหย่อนภาษี ttb smartport

กองทุนรวมลดหย่อนภาษี


สนใจทดลองตั้งเป้าหมายและลงทุนได้เลย เพียง 1 บาท ก็เริ่มลงทุนได้ด้วย ttb smart port สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.ttbbank.com/tsp/lite-cal สามารถเปิดบัญชีกองทุน และลงทุนผ่านแอป ttb touch ได้ง่ายๆ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ttb investment line หรือโทร. 1428 กด#4 ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9:00 น. – 17:30 น. (ยกเว้นวันหยุดธนาคาร)


หมายเหตุ:

  • ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด ที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
  • การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน /ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต /ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน / กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศและไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรืออาจได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ / ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวน โดยเฉพาะนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน /การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะของกองทุน เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน / ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนในกองทุนรวมก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ผู้ลงทุนสามารถรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ ทีทีบี ทุกสาขา หรือ ttb Investment Line โทร. 1428 กด # 4 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9:00 – 17:30 น. (ยกเว้นวันหยุดธนาคาร)