อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด ครั้งนี้ finbiz by ttb ได้จัดงานสัมมนา finbiz industry hack 2023 ติดอาวุธ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม…สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่ออัปเดตเรื่องราวในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทย โดยเชิญผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมารับฟังกลยุทธ์และเครื่องมือต่าง ๆ จากผู้บริหาร ttb และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทำลงมือฝึกปฏิบัติการที่ชวนผู้ร่วมสัมมนา มาวิเคราะห์และวางแผนธุรกิจ เพื่อเตรียมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
รู้ทันเทรนด์และโอกาสของอาหารอนาคต
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มคาดว่าจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 2.37 ล้านล้านบาทในสิ้นปี 2023 ด้วยอัตราการเติบโตที่ 11.4% และยังจะขยายตัวต่อเนื่องอีก 8.9% ในปี 2024
วิทยากรท่านแรก คุณรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ได้ให้เกียรติมาเล่าภาพรวมและเทรนด์อุตสาหกรรมอาหาร โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจจากปีที่แล้ว อุตสาหกรรมส่งออกอาหารของไทยเป็นอันดับที่ 14 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 2.6% เป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน ด้วยจุดแข็งที่เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มีระบบการผลิตที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ส่งให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” (Kitchen of the World)
โอกาสใหม่ที่น่าจับตาสำหรับการส่งออกคือ 1) สินค้าอาหารฮาลาล จับกลุ่มมุสลิมชาวจีนที่มีราว 30 ล้านคน 2) ตลาดเกาหลีที่นิยมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และต้องการบริโภครสชาติใหม่ ๆ และรสชาดแบบไทย ๆ ก็เป็นที่สนใจของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเกาหลี เช่น รสลาบ รสแกงส้ม และ 3) ตลาดอินเดียที่กำลังมองหาชาผลไม้จากไทย อาหารอนาคต (Future food) ถือเป็นอีกสินค้าที่เป็นความหวังใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืน (ESG) โดยอาหารอนาคตคืออาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ดีต่อสุขภาพ สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ อีกทั้งต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแผนส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้สอดคล้องกับ BCG โมเดล คุณรุ้งเพชรขยายความว่า อาหารอนาคตแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) อาหารฟังก์ชัน คือ การทำให้อาหารที่มีอยู่แล้ว น่าสนใจมากขึ้น เช่น น้ำเปล่า ที่นำมาผสมวิตามินต่าง ๆ 2) อาหารใหม่ (Novel food) คืออาหารที่มีการนำมาบริโภคน้อยกว่า 15 ปี เช่น โปรตีนแมลง โปรตีนจากพืช และ 3) อาหารอินทรีย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อย สำหรับตลาดที่น่าสนใจ คือสหรัฐอเมริกา เวียดนาม จีน เมียนมา และกัมพูชา
สำหรับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคปี 2023 - 2026 ต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพ ความปลอดภัยของอาหาร สินค้าที่มีนวัตกรรม หรืออาหารที่ช่วยจิตใจ ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน ใส่ใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ต้องการความสะดวกสบาย อาหาร ready-meal, ready to eat, ready to cook จึงเติบโตดี และสินค้าต้องมีความคุ้มค่าทางราคา และต้องตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ด้วย
“ไทยเป็นหนึ่งใน 15 ผู้ส่งออกอาหารโลก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าภาคเกษตรกรรมการเพิ่มนวัตกรรมให้สินค้ามีมูลค่าสูง และผลักดันให้เกิดความยั่งยืนโดยใช้แนวคิดของ อาหารอนาคต ควบคู่กับ ESG จะสามารถสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยได้มากยิ่งขึ้น”
เตรียมรับมือกับกระแสความยั่งยืน ESG ที่จะไม่เป็นเพียงกระแสอีกต่อไป
จากนั้น คุณกมลพันธ์ ลักษณา หัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต ได้มาขยายความด้านความยั่งยืน ESG ที่มาจาก Environmental, Social และ Governance โดยปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักรับรู้เรื่องนี้มากขึ้นผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งสัมผัสผลกระทบด้วยตนเอง เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากการผลิตและบริโภค ผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้แบรนด์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม และพร้อมที่จะซื้อสินค้าที่มีการดำเนินการด้าน ESG
ผู้ประกอบการอาหารจึงจำเป็นต้องสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ก่อนที่โดนกฎหมายบังคับ หรือนักลงทุน NGO และสังคมกดดัน อย่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป ที่จะบังคับใช้เก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงในปี 2026 ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังยุโรป ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการวัดการรายงานการปล่อยคาร์บอน หรือมีต้นทุนในการสร้างมาตรฐานในการรองรับมาตรการดังกล่าวเพิ่ม นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมแน่นอน หากผู้ประกอบการรู้ทัน ทำเร็ว ก็จะรับมือได้ดีขึ้น
ประเด็นด้านความยั่งยืนที่ผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการให้ได้ตามมาตรฐานสากล ได้แก่ 1) Environmental น้ำเป็นประเด็นสำคัญ การจัดการน้ำที่ใช้ในการผลิตและเป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่ม 2) Social เช่น ไม่ใช้แรงงานทาสหรือแรงงานผิดกฎหมาย อาหารมีความปลอดภัย มีคุณภาพ มีโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ และ 3) Governance เช่น ความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่ คุณกมลพันธ์ยังแบ่งปัน Case Study และแนวทางการแก้ปัญหาให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ผู้บริโภคให้ความสำคัญ และต้องการจะตรวจสอบย้อนกลับได้
“การบริหารจัดการด้าน ESG จะกระทบกับธุรกิจทั้งซัพพลายเชนกิจกรรมทุกอย่างต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญและดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นพร้อมคิดต่างเพื่อเป็นผู้นำในตลาด”
สร้าง Team Talent เพื่อการเติบโต
คุณจรัญพจน์ รุจิราโสภณ กรรมการบริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติมาถอดบทเรียนการบริหารธุรกิจในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 โดยแบรนด์ ส.ขอนแก่น นั้นโด่งดังมากในสินค้ากลุ่มแหนม หมูยอ และไส้กรอกอีสาน ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร Farm to Table ตั้งแต่โรงเลี้ยงสัตว์ไปจนถึงร้านอาหาร เว้นไว้เพียงโรงเชือดเท่านั้น ซึ่งตั้งเป้าหมายชัดเจนที่จะเป็น Global Company
การเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยความไม่รู้ในช่วงแรก ทำให้คุณจรัญพจน์รู้สึกเหมือนตกอยู่ในเขาวงกต จึงหาทางออกด้วยการ 1) หา Talent หรือคนเก่งที่สุดในแต่ละด้านมาทำงานในทีม 2) สร้างวัฒนธรรมการกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดการ “เห็นด้วย-เห็นต่าง” สามารถตอบโต้แนวคิดกันได้ในทุกวินาที และขัดแย้งได้เพื่อผลงานที่ดีขององค์กร โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาองค์กร จึงส่งผลให้บริษัทสามารถลดต้นทุนและขับเคลื่อนผลประกอบการให้เติบโตได้
“การมี Talent ที่ใช่ ช่วยสร้างความแตกต่างและทำให้องค์กรดีขึ้นโดยภาพรวม พร้อมกับการสร้างวัฒนธรรมองค์ให้กล้าคิด กล้าพูด โดยมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน จะเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างได้อย่างชัดเจน”
นอกจากนี้ คุณจรัญพจน์ยังเตรียมดำเนินการด้าน ESG เช่น การควบคุมคาร์บอนสำหรับสินค้าเพื่อการส่งออก แม้ว่าต้นทุนในส่วนนี้จะเพิ่ม แต่คุณค่าที่เขามองเห็นคือโลกที่ดียิ่งขึ้น และให้ความคุ้มค่าในระยะยาว รวมทั้งตั้งเป้าเริ่มสำรวจคาร์บอน ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดต้องปฏิบัติตาม
เพิ่มยอดขายโดยยึดลูกค้าเป็นตัวตั้ง
คุณปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ Co-Founder & Head of Strategies บริษัท เฮด วันฮันเดรด จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน ได้ชวนผู้ประกอบการมาสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขาย เพราะการทำธุรกิจยุคนี้ไม่ง่าย ด้วยคู่แข่งที่มากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้นจนเหมือนจะเอาไม่อยู่ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
วิธีการให้ได้มาซึ่งยอดขายที่เติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คือ 1) ทำอยางไรให้ลูกค้าบริโภคได้บ่อยขึ้น 2) หาลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือไปขายตลาดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ 3) สร้าง Fandom เพื่อหนีสงครามราคา 4) เพิ่มมูลค่าในสิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญ พร้อมแนะนำกลยุทธ์เพิ่มยอดขายผ่าน 5A Customer Journey
“ในทุกความท้าทายมาพร้อมโอกาสเสมอ เราต้องรู้ใจลูกค้า พูดในสิ่งที่โดน ทุกวินาทีของลูกค้ามีความหมาย เราจะต้องส่งต่อคุณค่าหรือประโยชน์ด้วยประสบการณ์ที่ เหนือความคาดหมาย”
เพิ่มประสิทธิภาพการเงินด้วยดิจิทัลโซลูชัน
เพิ่มประสิทธิภาพการเงินด้วยดิจิทัลโซลูชันโดย คุณกนกพร จูฑา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต เพราะแม้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะเติบโตได้ดี แต่ตลาดยังเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่ SME ที่มีมากถึง 98% สร้างรายได้เพียง 19% ทั้งยังเสี่ยงต่อการอยู่รอดอย่างมาก เพราะ SME มีต้นทุนการขาย การตลาด และการดำเนินการสูง ไม่นับรวมความท้าทายจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่จะมากระทบในปีหน้าทำให้ต้นทุนของวัตถุดิบสูงขึ้นด้วย
“ต้นทุนทุกบาทที่ลดลง คือ ผลกำไรที่เพิ่มขึ้น กำไรเฉลี่ยของ SME ในอุตฯ อาหารอยู่ที่ 1.45% การลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน 10% สามารถช่วยเพิ่มกำไร 1.6% หรือกว่าเท่าตัว ทีทีบี มีโซลูชันทางการเงินเพื่อ SME ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน””
ทีทีบีมีความตั้งใจที่จะเป็นพันธมิตรของ SME จึงได้พัฒนาดิจิทัลโซลูชันที่จะช่วยผู้ประกอบการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบัญชีธุรกิจ ttb sme one bank โซลูชัน ttb smart shop, ttb quick pay และ ttb payroll plus ตลอดจน ttb business one ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ทำธุรกรรมได้สะดวก ง่าย ปลอดภัย ควบคุมธุรกิจได้ในที่เดียว รวมทั้งสินเชื่อ ttb smart biz ที่ SME สามารถใช้รีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจได้วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 20 ปี เพื่อสภาพคล่องและการลงทุนในระยะยาว
จากนั้นผู้ประกอบการได้ร่วมลงมือฝึกปฏิบัติการ (Workshop) ตรวจสุขภาพธุรกิจและสภาวะตลาด พร้อมกำหนดเป้าหมายการเติบโต และ หากลยุทธ์ชนะใจลูกค้าแบบ O2O กับทีมงานเฮด วันฮันเดรด
ถือเป็นกิจกรรมแบบ Interactive จบใน 1 วัน ที่ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้จริง เพื่อเป็นการติดอาวุธให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของโครงการ finbiz by ttb
ที่มา :
- งานสัมมนา finbiz industry hack 2023 ติดอาวุธ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม…สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดย finbiz by ttb
finbiz by ttb
โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม
พร้อมองค์ความรู้ ที่ครบครัน จาก Partner ชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบัน
ปรับตัวตอบโจทย์ยุคดิจิทัล พร้อมมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME