กรณีศึกษา อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ จากหลักสูตร LEAN for Sustainable Growth by ttb รุ่นที่ 18
จากหลักสูตร LEAN for Sustainable Growth by ttb “เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจยุคดิจิทัลพร้อมก้าวผ่านความท้าทาย มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน” หนึ่งในโครงการ finbiz by ttb ที่เพิ่งจะอบรมรุ่น 18 สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้ เราจะขอนำเสนอคีย์เด็ด ที่ทุกธุรกิจสามารถนำมาปรับใช้ได้ ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงที่ได้จากงานมาแบ่งปันกัน
1. ต้องรู้ทันเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป
ปัจจุบันเทรนด์โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเข้ามาของนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ดังนั้น การปรับตัวจะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ทั้งนวัตกรรมการผลิต ไปจนถึงเทคนิคและโมเดลทางการตลาดเลยทีเดียว อย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาป (ICE: Internal Combustion Engine) เป็นยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV: Electric Vehicle) ซึ่งกระทบทั้งอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้กระทั่งวิธีการขาย ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่รวมตัวกันอยู่ที่งาน Bangkok International Motor Show ปี 2023 แต่มีค่ายรถยนต์แห่งหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ที่นั่น แต่กลับสามารถทำยอดจองภายในวันเดียวได้ใกล้เคียงยอดจองของค่ายที่ได้ยอดจองในงานตลอดทั้งงาน ด้วยวิธีทางออนไลน์ โซเชียลมีเดีย รวมถึง เปลี่ยนลูกค้าเป็น Marketer
2. การปรับตัว เป็นสิ่งจำเป็น เมื่ออุตสาหกรรมถูกพลิกโฉม
จากสถิติตลอดทั้งปี 2022 – 2023 การเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจาก ความต้องการที่จะถนอมโลกใบนี้ให้ยั่งยืน การรักษาทรัพยากร และใช้พลังงานทางเลือกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมในหลายอุตสาหกรรม อย่างในด้านยานยนต์ การเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเมกะเทรนด์ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งโลกอย่างแท้จริง ทั้งด้านการผลิต การตลาด และคาดว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้า รถยนต์ ICE จะค่อย ๆ โดนกลืนกินตลาด สวนทางกับรถยนต์ BEV ที่ทะยานขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ จนกระทั่งปี 2030 จะเกิดจุดตัดที่เห็นได้ชัด และอุตสาหกรรมยานยนต์จะเปลี่ยนโฉมไปจากนี้แน่นอน โจทย์คือเราจะปรับตัว วางแผนพัฒนาธุรกิจต่อไปอย่างไร ให้เข้ากับระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจอย่างแท้จริง
3. ข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรฐานควบคุมคุณภาพที่ไม่เป็นรอง คือจุดแข็ง ส่งให้ไทยมีโอกาสในระดับโลก
ไทยเป็นประเทศที่มีข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับความมีประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ไทยมีมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ ที่พร้อมจะยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจให้สูงขึ้น อย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของ EV Car นี้ ในปีที่ผ่านมา ไทยมีส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนสูงสุดที่ 58.3% รองลงมาคืออินโดนีเซีย 19.50% และเวียดนาม 15.80% ถือว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมากสำหรับภูมิภาคนี้ และไทยยังมีข้อได้เปรียบโดยเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียน ที่รัฐบาลมีนโยบายและ Road Map ที่ชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่งไทยมีโอกาสจะขยับขึ้นไปเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ด้วยข้อได้เปรียบที่กล่าวไปทั้งหมด
4. สร้างระบบนิเวศให้อุตสาหกรรม จับจุดได้ ติดตามข่าวสารการสนับสนุน เพื่อความได้เปรียบทางธุรกิจ
ในทุกการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีสิ่งที่มารองรับเสมอ ดังนั้น เมื่ออุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศต่าง ๆ ที่มารองรับจะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งหากผู้ประกอบการจับกระแสได้เร็ว และคอยติดตามข่าวสารการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ก็จะสร้างความได้เปรียบอย่างมาก อย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงหลักคือ นวัตกรรมยานยนต์ แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อ ก็คือ ระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีการชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับยานยนต์ก็จะต้องขยับตามกันไปและต้องเพียงพอต่อการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และมีการสนับสนุนจาก BOI ในการสร้างสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า กรณีที่มีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย เป็นประเภท DC QUICK CHARGE ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี เป็นต้น และยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพื่อกระตุ้นระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างโอกาสแข่งขันให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ในไทยได้
5. สร้างโอกาสจากการทำลาย Waste Management เตรียมให้ครบ จบทั้งระบบนิเวศ
การสร้างระบบนิเวศให้ครบจริง ๆ จะต้องรวมถึงการทำลายด้วย ดังนั้น การจัดการกับขยะต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การทำลายที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก หากผู้ประกอบการสามารถทำลายเศษซากจากอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี มีนวัตกรรมการทำลายเพื่อความยั่งยืนจะยิ่งได้เปรียบ Waste Management ที่มีประสิทธิภาพ จะสร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ได้อีกด้วย อย่างในธุรกิจยานยนต์ ไม่น่าเชื่อว่าแบตเตอรี่ที่เสื่อมแล้ว ปัจจุบันมีประเทศเดียวในโลก คือเบลเยี่ยมที่สามารถแยกชิ้นส่วนและทำลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นไม่นานต่อจากนี้ภาครัฐจะต้องหามาตรการควบคุมขยะที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามและจัดการได้
6. นวัตกรรมต้องพัฒนาอย่างรวดเร็วรอบคอบ และต้องคำนึงถึงความยั่งยืน
ในยุคที่เทคโนโลยี ในทุก ๆ ด้าน มีการเปลี่ยนแปลง และต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของโลกให้มากขึ้น ดังนั้น นวัตกรรม หรือ Innovation คือสิ่งที่สำคัญ การพยายามสร้างและปรับปรุง ในการทำนวัตกรรมทุกอย่างยากตั้งแต่เริ่มต้น ทุกอย่างมีต้นทุนในการทดลอง ความไม่ประสบความสำเร็จในบางการทดลอง จะสร้างประสบการณ์เพื่อใช้ในการปรับปรุงพัฒนา บางครั้งอาจะต้องรื้อสิ่งที่ผิดพลาดทิ้งแล้วเริ่มใหม่ ประสบการณ์จากการค้นคว้า การทดลอง ปรับปรุงและพัฒนาจะทำให้เกิดนวัตกรรมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคเปลี่ยนผ่าน ที่เราต้องเร่งนวัตกรรมมารองรับและสร้างความยั่งยืนให้โลกไว้ได้และจำเป็นต้องทำอย่างรอบคอบและรวดเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่ไวขึ้นของโลก
7. “ความยั่งยืน” ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์แข่งขันได้
การจะนำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนได้จำเป็นต้องมีแนวคิด “ESG” ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social และ Governance เข้ามาเกี่ยวข้อง และ ESG ได้กลายเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการต้องเร่งทำ ESG เพราะด้วยมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของ EU ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้นภายใต้แนวคิด ESG เช่น การใช้ชิ้นส่วนวัสดุรีไซเคิลในการผลิต เพื่อตอบโจทย์การค้าโลกที่มุ่งสู่การลดก๊าซคาร์บอน ความท้าทายคือไม่ใช่การปรับตัวแค่บริษัทเดียว แต่ต้องทำให้ทั้ง Value Chain อยู่ในแนวคิด ESG และต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะหากไม่ปรับตัว สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น “ต้นทุน” เป็น “ราคา” ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายในอนาคต
8. ความยั่งยืนที่มาจากการ “บริหารคน” สร้างระบบนิเวศแบบ Joyful organization และกระตุ้นให้บุคคลากรมีทัศนคติเชิงบวก
ทุกวันนี้โลกของการบริหารคนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ผู้บริหารต้องใช้ “การบริหารคน” เพื่อเปลี่ยนเกม และสร้างอิมแพ็คให้กับธุรกิจ โดยสร้างระบบนิเวศในการทำงานเป็น Joyful organization ดึงดูดให้คนอยากมาทำงานด้วย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่นำไปสู่ความยั่งยืน ตลาดแรงงานที่มีคนในหลาย ๆ Generation ผู้ประกอบการต้องจะหลอมรวมทุกคน ให้เข้ากัน และมีความสุขในการทำงานร่วมกัน บนพื้นฐานความแตกต่างและความหลากหลาย การพัฒนาด้าน “ทัศนคติ” ของบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อพนักงานมีความสุข มีความเชื่อว่าทุกอย่างปรับปรุงพัฒนาได้โดยตลอด จะสร้างบุคคลากรทักษะสูง และทำให้อุตสาหกรรมพัฒนาสู่การเป็น Smart Factory ได้โดยง่าย
9. LEAN ยังคงเป็นหัวใจหลักที่เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน
LEAN ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับธุรกิจ แต่หัวใจจริง ๆ คือการเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน LEAN สามารถพัฒนาวิธีคิดอย่างมีประสิทธิภาพให้แตกต่างจากคู่แข่ง ธุรกิจจึงมีแรงดึงดูดมากขึ้น หรือ เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้ แต่เหนืออื่นใดคือธุรกิจต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม ต้องพยายามรักษาสมดุลธุรกิจให้ยังเติบโตได้ดีอยู่ พร้อมไปกับการแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่ง LEAN นี่แหละ จะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแรง เพื่อให้ธุรกิจสามารถรักษาสมดุลไว้ได้
ในยุคที่อุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งด้วยนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลง และการถนอมโลกใบนี้ให้ยั่งยืน โดยที่อุตสาหกรรมต้องยืนหยัดอย่างยั่งยืนเช่นกัน ด้วยข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ แรงงานทักษะสูง และการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะยกระดับอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้าขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องบริหารงานด้วยทัศนคติที่ดี พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และให้ความสำคัญกับบุคลากร นวัตกรรม และระบบนิเวศของอุตสาหกรรม เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในยุคที่ทุกการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้
ที่มา : หลักสูตร LEAN for Sustainable Growth by ttb รุ่นที่ 18
finbiz by ttb
โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม
พร้อมองค์ความรู้ ที่ครบครัน จาก Partner ชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบัน
ปรับตัวตอบโจทย์ยุคดิจิทัล พร้อมมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME