การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลกที่มีบริษัทกระจายอยู่ในหลายประเทศ มีแบรนด์ที่อยู่ในความดูแลกว่า 10 แบรนด์ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง ครั้งนี้ finbiz by ttb ขอพามารู้จักกับ คุณยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์การบริหารการเงินของกลุ่มบริษัทที่มีบริษัทลูกและบริษัทในเครือกว่า 70 บริษัทกระจายใน 30 ประเทศทั่วโลกในส่วนการดูแลเกี่ยวกับ Treasury Management for Global Business ในการอบรมหลักสูตร ttb digital LEAN Supply Chain สำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีแนวคิดเบื้องหลังความสำเร็จที่น่าสนใจไม่น้อย
จากบริษัทเล็กๆ ก้าวกระโดดสู่บริษัทระดับโลก
ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตทูน่ากระป๋อง ก่อนขยายไปสู่ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็น และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จนไปถึงธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มต่างๆ ที่ตั้งต้นจากวัตถุดิบอาหารทะเลและพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรม ก้าวย่างการเติบโตที่สำคัญในรอบกว่า 45 ปีที่ดำเนินธุรกิจในระดับโลก ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือ
ก้าวข้ามจากผู้ผลิตสู่การเป็นเจ้าของแบรนด์ เพื่อลดแรงกดดันจากต้นน้ำและปลายน้ำ โดยเข้าซื้อบริษัทที่มีศักยภาพในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เช่น Chicken of the Sea แบรนด์อาหารทะเลกระป๋องที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอเมริกา รวมทั้ง MWBrands ในยุโรป ที่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญทำให้เกิด Synergy ขึ้นในกลุ่ม ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ โรงงาน หรือแบรนด์ปลายทาง เมื่อบริษัทเป็นเจ้าของแบรนด์ในตลาดหลักที่บริโภคทูน่า และเข้าถึงข้อมูลลูกค้าผู้บริโภค ก็จะสามารถเลือกแบรนด์ที่ใช่เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ได้ รวมทั้งการที่มีโรงงานกระจายอยู่ทั่วโลก ก็ตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าสินค้าแต่ละตัวควรจะผลิตที่ไหน
นอกจากนี้ยังลงทุนซื้อ Red Lobster เชนร้านอาหารที่มีอยู่ 700 สาขาในอเมริกา และอีก 30 สาขาทั่วโลก โดยมองว่าหากลูกค้ารับประทานแล้วชื่นชอบในเมนูซีฟู้ด สามารถบอกได้ว่าอาหารทะเลนี้ซัพพลายจากไทยยูเนี่ยน
ต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรม โดยตั้งศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน ครั้งแรกในปี 2015 เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือทั่วโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตและหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เชื่อมโยงวิทยาการ โภชนาการสมัยใหม่เข้ากับนวัตกรรมการผลิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรมอาหารโลก เกิดเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ๆ ได้แก่ Thai Union Ingredients ผลิตส่วนประกอบในอาหาร เช่น น้ำมันปลาทูน่าที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และแคลเซียม ตอบโจทย์ลูกค้า B2B Thai Union Alternative Protein ผลิตโปรตีนทางเลือกทั้งในรูปแบบ OEM และแบรนด์ OMG Meat ของบริษัทเอง และ Thai Union Life Science ที่ดูการผลิตสินค้าประเภท supplement ที่เจาะกลุ่มตลาดลูกค้า B2C
ลงทุนในสตาร์ทอัพ 3 กลุ่มหลัก ที่เชื่อมต่อกับธุรกิจได้ พร้อมติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ 1) Alternative Protein ลงทุนทั้ง Plant-based, Algae-based และ Cell-based 2) อาหารฟังก์ชั่น และ 3) เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งรวมถึง เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงในด้านกลยุทธ์เช่นการลงทุนต่างๆ ด้วย โดยมุ่งลงทุน ร่วมทุน ในบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงพัฒนาธุรกิจที่สนใจด้านเหล่านี้และร่วมสนับสนุนและผลักดันให้พัฒนาต่อไป
Treasury Transformation ทำเรื่องเงินให้เป็นเรื่องง่าย
ธุรกิจของไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปกระจายอยู่ทั่วโลก ยอดขาย 44% มาจากสหรัฐอเมริกา 29% มาจากยุโรป 17% มาจากประเทศอื่นๆ และ 10% มาจากประเทศไทย ด้วยโครงสร้างของธุรกิจที่มีความซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อการบริหารการเงินโดยตรง เพราะทุกบริษัทในทุกประเทศมีเงินเข้า-เงินออก เงินเหลือ-เงินขาด รวมถึงการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน และ การจัดหาแหล่งเงินทุน
จึงเป็นที่มาของการทำ Treasury Transformation เพื่อที่จะสามารถมองเห็นข้อมูลการทำธุรกรรมในแต่ละประเทศ และบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพใน 3 เรื่องหลัก คือ สภาพคล่องและการบริหารเงินสดของบริษัท การจัดหาแหล่งเงินทุน และการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ภายใต้ปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น โควิด-19 หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวคิด ESG ที่จะเป็นกฎเกณฑ์ในอนาคต หากบริษัทไม่ดำเนินการก็อาจกู้เงินธนาคารไม่ได้ มาตรฐานบัญชีและระบบภาษีที่กำลังมีการปรับภูมิทัศน์การจัดเก็บใหม่ เป็นต้น โดยดำเนินการดังนี้
- ยกระดับมาตรฐานการทำงานสู่ Global โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทเป็นสำคัญ
- ยกเครื่องหลังบ้านให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บ รวบรวมและเข้าถึงข้อมูล
- ตั้ง Global Treasury Center ที่เมืองไทย และตั้ง Regional Treasury Center ที่ลักเซมเบิร์กกับสหรัฐอเมริกา โดยประเทศไทยเป็น Headquarter เพื่อให้ข้อมูลทางการเงินทุกอย่างพุ่งตรงมาที่เมืองไทย เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ
- เดินหน้าทำ In-House Banking ตัวกลางที่จะบริหารจัดการการเงินให้กับบริษัทลูกต่างๆ ในประเทศไทย
LEAN ได้ เพียงบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
- Long-term Financing แทนที่จะให้บริษัทลูกไปคุยกับธนาคารและกู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แพง ก็ให้บริษัทแม่เป็นคนกู้เงินจากเมืองไทย เพราะหาแหล่งเงินได้ดีกว่าด้วยดอกเบี้ยดีกว่า ก่อนจะกระจายเงินส่งไปรีไฟแนนซ์กับธนาคารในประเทศนั้น ๆ ซึ่งมีข้อดีคือบริษัทแม่เก็บส่วนต่างดอกเบี้ยกลับมาที่เมืองไทย และรับผิดชอบบริหารความเสี่ยงทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยได้เอง
- Working Capital Management สร้างระบบอัตโนมัติในการบริหารจัดการการจัดส่งเงินระหว่างศูนย์บริหารเงินในเมืองไทยไปยังบริษัทต่าง ๆ ในยุโรป อเมริกา และในประเทศไทย โดยจะมีส่วนกลางคอยจัดการดูแลเงินเข้า-ออกแต่ละวันของบริษัทลูกในแต่ละภูมิภาค กติกาคือทุกสิ้นวันทำการ ถ้าบริษัทใดขาดเงิน ระบบจะส่งเงินจากเมืองไทยให้โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเงินเหลือ เงินนั้นก็จะดึงกลับมาที่เมืองไทย ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากของบริษัทลูกในการหมุนเงินระยะสั้นรายวัน
- In-House Banking การจัดตั้ง In-House Banking เพื่อบริหารงานและพัฒนากระบวนการทำงานให้กับ 6 บริษัทหลักในเมืองไทย ที่เป็นบริษัทส่งออกและมีการทำธุรกรรมมากกว่าบริษัทอื่นๆ โดยเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการการเงินกับธนาคารต่างๆ ซึ่งหากเงินขาด ระบบก็จะกลบให้ครบ หากเงินเหลือก็จะส่งคืนส่วนกลางต่อไป รวมถึงทำหน้าที่บริหารอัตราแลกเปลี่ยนในฐานะศูนย์บริหารเงินให้กลุ่มบริษัทนี้อีกด้วย
- Robotic Process Automation (RPA) เมื่อธุรกรรมทางการเงินมีกระบวนการที่ครอบคลุมชัดเจน และค่อนข้างเป็นรายการที่ซ้ำๆ เป็นกิจวัตรประจำวัน ก็จะก่อให้ LEAN ตัวที่ 4 นั่นคือ การเขียนโปรแกรม Robotic Process Automation (RPA) เพื่อให้ระบบจัดการตามคำสั่งโดยอัตโนมัติ เริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมข้อมูล ล็อกอินระบบ กรอกข้อมูลธุรกรรม จัดทำรายงาน ล็อกอินอีเมลเพื่อจัดส่งรายงานให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง RPA ช่วยตอบโจทย์งานหรือกระบวนการที่ซ้ำๆ ได้ โดยเอาเวลาคนไปสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างอื่นแทน
เมื่อทุกองค์ประกอบเดินหน้าไปตามที่วางแผนไว้ และด้วยการจัดการข้อมูลที่ดีและระบบที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มีฐานะการเงินที่มั่นคงมากว่า 45 ปี มีกำไรอย่างต่อเนื่อง สามารถลดเงินสดคงเหลือของบริษัททั่วโลกได้ดีขึ้นและพร้อมที่จะต่อยอดไปในอนาคตเพื่อการพัฒนาทางด้านการเงินอย่างยั่งยืน แนวคิดภายใต้สูตรความสำเร็จนี้ เราเชื่อว่าหลายๆ เรื่องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับบริษัทไทยที่คิดจะเติบโตในระดับโลกเช่นไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป
ที่มา :
- โครงการ ttb Digital LEAN Supply Chain รุ่นที่ 17
ttb Digital LEAN Supply Chain โครงการพัฒนาต่อยอดมาจาก ttb LEAN Supply Chain
ให้ความรู้ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพให้ซัพพลายเชนอย่างแท้จริงมายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพหนึ่งในโครงการ finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้ธุรกิจผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมองค์ความรู้ที่ครบครัน จากพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวในยุคดิจิทัลและเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME หรือคลิกเพิ่มเพื่อน