คำว่า LEAN SIX SIGMA ใคร ๆ ที่ประกอบธุรกิจคงได้ยินบ่อย ๆ และพอทราบว่าเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ finbiz by ttb ขอพามารู้จัก LEAN SIX SIGMA เบื้องต้นว่าคืออะไร และธุรกิจควรให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน?
LEAN SIX SIGMA คืออะไร?
“ของดี ราคาเหมาะสม ส่งทันเวลา” หากการผลิตสินค้าเป็นได้ดังนี้ คงเป็นธุรกิจในฝันของหลาย ๆ คน ซึ่งในข้อราคาเหมาะสม ส่งทันเวลา เราสามารถใช้เครื่องมือ LEAN SIX SIGMA ช่วยได้ โดยใช้เครื่องมือนี้กับทั้ง 5M (Measurement, Material, Man, Machine และ Method) ที่อยู่ในกระบวนการผลิต
LEAN SIX SIGMA
เป็นเครื่องมือ 2 อย่าง ที่ประกอบด้วย LEAN และ SIX SIGMA โดย LEAN เน้นที่การมองหาความสูญเปล่าที่ไม่จำเป็น และทำให้ต้นทุนสูง และ SIX SIGMA เน้นที่การลดความไม่แน่นอน ให้การดำเนินงานคงที่ มีความแปรผันน้อยที่สุด ซึ่งเราจะมาลงรายละเอียด เริ่มจาก SIX SIGMA ดังนี้
SIX SIGMA
กลยุทธ์ทางธุรกิจที่เน้นหาความผันแปร (Variation) เพื่อให้เจอเหตุ และแก้ไขเหตุของความผันแปรให้ได้ จะเป็นการลดต้นทุน โดยไม่ลดคุณภาพ เมื่อของเสียน้อยลง
จากกราฟทรงระฆังคว่ำด้านล่าง จะพบว่า ส่วนของผลผลิตจะอยู่ในช่วงที่แบ่งเป็น 12 ช่วง (-6 ถึง +6) และส่วนผันแปรหรือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน อยู่ที่ส่วนหัวและท้ายของกราฟ โดยบริเวณนั้นจะเป็นผลผลิตที่ตกสเป็ก ดังนั้น หากมีของดีในช่วง 6 SIGMA นั่นหมายถึงเรามีผลผลิตที่อยู่ในสเป็กที่ 99.999776% ซึ่งหมายถึง ผลผลิต 1 ล้านชิ้น จะมีของเสียอยู่ 3.4 ชิ้นเท่านั้นเอง
การผลิต หรืองานบริการ ที่จะมีผลผลิตคุณภาพอยู่ในช่วง SIX SIGMA ก็ต้องเกิดจากกระบวนการที่คงที่ หรือเป๊ะมาก ๆ ทำให้มีผลผลิตตกสเป็กอยู่น้อยมาก ๆ จนกระทั่งลดกระบวนการตรวจสอบลงไปได้ จึงทำให้ลดต้นทุนได้แต่ไม่ได้ลดคุณภาพนั่นเอง
การลดต้นทุนคุณภาพ (COPQ : Cost of Poor Quality) ต้นทุนคุณภาพหรือต้นทุนคุณภาพต่ำเป็นต้นทุนที่จะหายไป เมื่อระบบกระบวนการและผลิตภัณฑ์สมบูรณ์แบบ ดังนั้น หลัก SIX SIGMA จะทำให้ COPQ ลดลง กราฟแท่งด้านล่างแสดง COPQ เมื่อสามารถบริหารให้ COPQ ลดลงได้ ก็จะยังคงมีกำไร แม้สินค้ามีราคาลดลง
เราจะทำอย่างไรให้ไปถึง 6SIGMA ซึ่งเราต้องใช้กระบวนการ DMAIC เข้ามาช่วย ซึ่งเราจะกล่าวถึงในตอนต่อไป สำหรับครั้งนี้
เรามารู้จักกับอีกเครื่องมือที่เรียกว่า LEAN กันก่อน
LEAN คืออะไร ?
LEAN คือ การลดความสูญเปล่าที่เป็นตัวการที่ทำให้ธุรกิจไม่มีประสิทธิภาพ LEAN เน้นที่การมองหาความสูญเปล่า (Waste) และ ลดละเลิกความสูญเปล่านั้น ภายใต้แนวคิดที่...
งานที่เพิ่มคุณค่า (Value Added) จะประกอบไปด้วย 3 เงื่อนไข
- เปลี่ยนแปลงรูปร่าง / ส่งมอบ
- เพื่อให้ตรงความต้องการของลูกค้า
- ทำถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรก
ถ้าไม่มี 3 เงื่อนไขนี้ = เป็นความสูญเปล่า (Waste)
ความสูญเปล่า 7 ประการ (7 Waste) เมื่อ LEAN เน้นที่การลดความสูญเปล่า เรามารู้จักความสูญเปล่า 7 อันประกอบด้วย
- Over Production : ผลิตที่มากเกินความจำเป็น
- Over Processing : ทำงานซ้ำซ้อนเกินไป
- Transportation : เคลื่อนย้ายงานที่เกินความจำเป็น โดยข้อนี้เน้นที่การเคลื่อนที่ของของ เช่น วัตถุดิบ
- Inventory : เก็บสินค้าเกินความจำเป็น
- Motion : ผู้ปฏิบัติงานเคลื่อนไหว โดยไม่จำเป็น เน้นที่การเคลื่อนที่ของพนักงาน เช่น การวาง Workstation ที่ไม่ดีพอ ซึ่งเราสามารถใช้กิจกรรม 5 ส. ช่วยในด้านนี้ได้แม้ว่าจะฟังดูโบราณสักหน่อย แต่ยังคงใช้ได้จริง อันประกอบไปด้วย สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย
- Waiting : มีงานรอคอย ทำให้ต้องเสียเวลาไปเปล่าๆ
- Defects : เกิดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานเสมอ
โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของ 7 Waste ได้ที่นี่
นอกจากความสูญเปล่า 7 ประการ (7 Waste) แล้ว ยังมีความสูญเปล่าเพิ่มเติมอีก 2 ข้อ ที่มักจะเกิดขึ้น ได้แก่
- การไม่ใช้ความสามารถ หรือศักยภาพ ของบุคลากรให้เต็มที่
การไม่นำความคิดสร้างสรรค์ ข้อเสนอแนะของบุคลากรไปปฏิบัติ (Unused Workforce Talent / Innovative Idea:
People waste การขาดทักษะหรือการฝึกฝนอบรมของบุคลากร (Unskilled or Untrained workforce)
- ผู้บริหารไม่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของพนักงาน
- จัดทำ JD แคบเกินไป และความคาดหวังต่ำเกินไป
- ทักษะการบริหารคนแบบเดิม ๆ
- ขาดมนุษย์สัมพันธ์ระดับแรงงาน
- การทำงาน หรือสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Lack of Safety)
ตัวอย่างความสูญเปล่าที่เกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เช่น
- สายไฟพาดผ่านทางเดิน พื้นเปียก
- ท่ายืน / นั่งทำงานที่ไม่ถูกหลักกายศาสตร์
- แสงไฟความสว่างไม่เพียงพอ
- ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ไม่เพียงพอ
อุปสรรคของ LEAN
- การใช้หลักการ LEAN กับองค์กรต้องอาศัยความใส่ใจของผู้บริหารระดับสูงในองค์กร หากไม่เอาจริงเอาจัง จะไม่สำเร็จและเป็นการสูญเปล่า
- เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ การที่ LEAN มาก ๆ อาจทำให้การดำเนินธุรกิจไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
LEAN SIX SIGMA สำหรับ Supply Chain ในยุคดิจิทัล
นอกจากการนำ LEAN มาปรับปรุงพัฒนาองค์กรของเราแล้ว หากทุกองค์กรในระบบซัพพลายเชนได้มีการปรับปรุง หรือบางขั้นตอนอาจมีการพัฒนาร่วมกัน ก็จะสามารถลดต้นทุนที่เกิดจากช่วงเวลารอคอย หรือการจัดเก็บสินค้า แก้ไขการติดคอขวด (Bottleneck) เพิ่มความสามารถในการแข่งขันตลอดทั้งซัพพลายเชนอีกด้วย ยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่ดิจิทัลเข้ามาบทบาท จึงทำให้การจัดการง่ายและสะดวกขึ้น หากเราใช้ความสามารถของระบบดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ เช่นการจัดการกับคลังสินค้า การพยากรณ์ที่แม่นยำขึ้น ผนวกกับความรู้ในเชิงบริหารก็จะทำให้ทั้งซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
การใช้ LEAN Six Sigma ในการบริหารธุรกิจ จึงสามารถใช้ได้ทั้งในส่วนการผลิต การขาย การบริหาร หรือเรียกได้ว่าแทบจะทุก ๆ ส่วน ให้มองว่าการใช้ LEAN Six Sigma เป็นกลยุทธ์ของธุรกิจ ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ในที่สุด
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพอื่น ๆ เพิ่มเติมได้คลิกที่นี่
กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จหลังจากผ่านหลักสูตร ttb LEAN Supply Chain เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพทั้ง Supply Chain (คิดอยู่ว่าจะใส่อันนี้เลยไหม ดูมันยาวมากแล้ว)
-
กรณีศึกษาบริษัทผลิตมะม่วงน้ำปลาหวานส่งให้กับร้านสะดวกซื้อ
ปัญหาคือ ไม่สามารถผลิตได้ทันเวลา จึงนำเครื่องมือ LEAN เข้าไปหาความสูญเปล่าพบว่า ขั้นตอนที่สูญเสียเวลามากที่สุดคือการปอกเปลือกมะม่วง อันเกิดมาจาก มีดปอกเปลือกผลไม้ที่มีอยู่หลายแบบ และมะม่วงจากต้นทางที่มีหลากหลายขนาดซึ่งทำให้ไม่ถนัดมือในการปอกเปลือกมะม่วง
เมื่อพบปัญหาแล้ว วิธีลดเวลาส่วนนี้ลง จึงแก้ไขด้วยการหามีดที่เหมาะที่สุด และมะม่วงที่มีขนาดเหมาะสมที่สุด เมื่อได้มีดที่เหมาะสมที่สุดแล้ว จัดหามีดชนิดนั้นในการปอกเปลือกมะม่วงทั้งหมด และแก้ปัญหาจากต้นทางโดยให้สวนที่ส่งมะม่วง คัดเฉพาะมะม่วงที่ได้ขนาดเหมาะสมเท่านั้น จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้ได้ผลผลิตกว่าเท่าตัวจากเดิม
-
กรณีศึกษาบริษัทจัดจำหน่ายอาหารกลุ่มที่ต้องถนอมด้วยการแช่แข็ง
ปัญหาค่าเช่าสต็อกเย็นรักษาสินค้าที่มีราคาสูง ได้นำหลักการ 7 Waste เข้าไปหาความสูญเปล่า พบว่า เกิดการสต็อกสินค้าที่มากเกินความจำเป็นไม่สมดุลกับความต้องการตลาด จึงคำนวณช่วงเวลาของการสั่งซื้อจากต้นทางใหม่ จัดสมดุลของช่วงเวลา และวางแผนการพยากรณ์ (forecast) ให้แม่นยำขึ้น เพื่อให้ลดปริมาณและชนิดสินค้าในสต็อกให้น้อยลง การลดต้นทุนจากการสต็อกล้น ยิ่งเป็นสินค้าที่ต้องเช่าสต็อกแช่เย็น ทำให้สามารถช่วยลดต้นทุนได้มาก และการ forecast ที่ดี ปรับสมดุลของช่วงเวลาที่ดี ทำให้สินค้าที่ค้างสต็อกหรือหมดอายุคาคลังสินค้าของทั้ง Chain ลดลง ช่วยความสูญเปล่าที่เกิดจากปริมาณของเสีย และค่าเช่าที่เกิดจากการสต็อกสินค้ามากเกินความจำเป็น
สำหรับในตอนนี้เราได้ทำความรู้จักกับ LEAN และ SIX SIGMA รวมถึงเริ่มมองเห็นความสูญเปล่า 7 ประการให้สามารถนำไป LEAN องค์กรของเรากันได้แล้ว ในตอนต่อไป เราจะมาหาทางทำอย่างไรให้ไปถึง SIX SIGMA กันต่อ ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการ DMAIC เพื่อให้ธุรกิจและ Supply Chain ของเราไปถึง LEAN SIX SIGMA กัน
ที่มา :
- หลักสูตร ttb Digital LEAN Supply Chain รุ่นที่ 17
ttb digital LEAN supply chain โครงการพัฒนาต่อยอดมาจาก LEAN Supply Chain by ttb
ให้ความรู้ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพให้ซัพพลายเชนอย่างแท้จริงมายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพหนึ่งในโครงการ finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้ธุรกิจผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมองค์ความรู้ที่ครบครัน จากพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวในยุคดิจิทัลและเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME หรือคลิกเพิ่มเพื่อน