หลังจากปี 2024 ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการ SME ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายและโอกาสในปี 2025 ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวกับการทำงานที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า หรือการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน finbiz by ttb จะพาผู้ประกอบการ SME มาดู 5 เทรนด์ธุรกิจที่จะส่งผลต่อการเติบโตในปี 2025 นี้
1. “Pet Parent” เทรนด์สัตว์เลี้ยงเติบโตต่อเนื่อง
ในปี 2025 สัตว์เลี้ยงจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และมีแนวโน้มที่ครอบครัวจะมีสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยรายงานของ Grand View Research คาดว่าตลาดสัตว์เลี้ยงทั่วโลกจะเติบโตด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี 9% ตั้งแต่ปี 2022 ถึง 2030 จะเห็นการเพิ่มขึ้นของความต้องการบริการเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์เลี้ยง สินค้าพรีเมียม และการดูแลแบบเฉพาะทาง เช่น บริการตรวจสุขภาพประจำปีสัตว์เลี้ยง พร้อมให้คำปรึกษา ซึ่งการให้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงสัตว์ออนไลน์ก็อยู่ในความสนใจ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และอุปกรณ์ติดตามสุขภาพสัตว์เลี้ยง อะไรที่ตอบสนองให้คุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงดีขึ้น ผู้ปกครองสัตว์เลี้ยงก็พร้อมจ่าย เราจะเริ่มเห็นได้ว่าจากปีก่อนหน้านี้ที่ร้านอาหารหรือสถานที่ต่าง ๆ ที่รองรับสัตว์เลี้ยงอาจจะมีบริเวณสำหรับสัตว์เลี้ยงอยู่ภายนอก แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีร้านอาหาร หรือบริการต่าง ๆ ที่สามารถให้สัตว์เลี้ยงเข้ามานั่งปะปนกับผู้ปกครองสัตว์เลี้ยงได้เลย ซึ่งแสดงถึงความใกล้ชิดที่มากขึ้น
แนวทางธุรกิจ :
- พัฒนาผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงที่เน้นคุณภาพสูง เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ หรือบริการพรีเมียม
- นำเทคโนโลยี เช่น แอปติดตามสุขภาพสัตว์เลี้ยง มาเพิ่มคุณค่าและประสบการณ์ลูกค้า
- จัดสรรโซนรองรับสัตว์เลี้ยงในสถานที่บริการต่าง ๆ พร้อมมาตรฐานความสะอาดที่ชัดเจน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับผู้ปกครองสัตว์เลี้ยงและผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ
- การสร้างระดับมาตรฐานเดียวกัน เพื่อวัดความสะอาดให้กับกลุ่มธุรกิจบริการที่ Pet-friendly และสามารถออกใบรับรองให้กับบริการและสถานที่ได้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการ
- ธุรกิจประกันสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ในปัจจุบันมีอยู่แล้ว แต่ต้องหาวิธีที่จะระบุเลขทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่เป็นมาตรฐานใช้ข้อมูลร่วมกันได้ เพื่อให้ประวัติการรักษาของสัตว์เลี้ยงมีฐานข้อมูลเดียวกัน และเป็นการป้องกันการสับเปลี่ยนตัวสัตว์เลี้ยง ซึ่งหากภาครัฐมีส่วนร่วมด้วยจะช่วยให้ระบบมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- การเติมฝันสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเอง แต่ติดข้อจำกัดต่าง ๆ การสร้างเทคโนโลยีประเภท Robot ที่มี AI สร้างพฤติกรรมแบบสัตว์เลี้ยงจริง ๆ ให้เจ้าของสามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยง Robot ยุคใหม่ ที่เหมือนจริงมาก ๆ ได้
2. ผู้สูงอายุดิจิทัล
UN ระบุว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัวแล้วตั้งแต่ปี 2021 และคาดว่าในปี 2030 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 25% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นสังคมจึงต้องการบริการดูแลสุขภาพ เทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้งานง่ายจะมีบทบาทสำคัญ ทั้งในด้านการให้คำปรึกษาสุขภาพ และบริการต่างๆ ที่รองรับการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ผู้สูงอายุเปิดรับการใช้งานผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผลิตภณฑ์และบริการต่าง ๆ
แนวทางธุรกิจ :
- สร้างผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น เครื่องมือตรวจสุขภาพดิจิทัล
- ลงทุนในแอปพลิเคชันและบริการดูแลสุขภาพที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก
- ปรับปรุงพื้นที่บริการให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ มีความปลอดภัย และมีอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวก
- งานบริการที่เหมาะกับสังคมสูงวัย เช่น บริการนำเที่ยวที่เหมาะกับผู้สูงอายุ มีการให้เวลาที่มากกว่าบริการทั่ว ๆ ไป และสะดวกสบายมากขึ้น
- รูปแบบการเช่าซื้อ หรือทำสัญญา เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใหม่ เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำลง หมายความว่าผู้สูงอายุอาจปราศจากทายาท ความต้องการการดูแลในบั้นปลาย และความไม่จำเป็นต้องเก็บทรัพย์สินเอาไว้หลังจากที่เสียชีวิต ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการด้วยรูปแบบของที่พักอาศัยที่มาพร้อมกับการดูแล และการรักษาพยาบาล
- งานบริการด้านยานพาหนะ สามารถพิจารณาการเช่ายานพาหนะเป็นครั้งคราว หรือรถยนต์พร้อมคนขับ หรือการทำสัญญาซ่อมบำรุงยานพาหนะในรูปแบบใหม่ ๆ
- ธุรกิจเกี่ยวกับความสงบในบั้นปลาย ที่จะพาผู้สูงอายุไปพบความสุขสงบทางใจก่อนที่จะเดินทางข้ามไปอีกเส้นทางหนึ่งหลังสิ้นชีวิตบนโลกปัจจุบัน เพื่อให้การปล่อยวางเป็นเรื่องง่ายและการเดินทางจากโลกไปไม่ใช่เรื่องน่ากลัว อาจใช้เทคโนโลยีเช่นแว่น VR เข้ามาช่วยในการเล่าเรื่องเพื่อให้บั้นปลายของผู้สูงวัยที่ปลายทางอันสุขสงบ
3. พลังงานสะอาด สู่อนาคตที่ยั่งยืน
ในปี 2025 นี้พลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย International Energy Agency (IEA) รายงานว่า พลังงานหมุนเวียนจะครองตลาดการผลิตพลังงานถึง 50% ภายในปี 2025 เนื่องจากความต้องการในการลดคาร์บอน รวมถึงวิทยาการ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดการใช้พลังงาน หรือผลิตพลังงานสะอาดด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งเทรนด์นี้เป็นสิ่งที่พัฒนามาจากการที่สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
แนวทางธุรกิจ :
- ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนพลังงานในระยะยาว
- ปรับกลยุทธ์การผลิตเพื่อลดคาร์บอน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ต่อเนื่องมาจากนวัตกรรมพลังหมุนเวียน เช่น การกำจัดแบตเตอรี่ การซ่อมบำรุงยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ การกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ หรือนวัตกรรมการรีไซเคิลต่าง ๆ
4. AI และระบบอัตโนมัติขับเคลื่อนอนาคต
AI และระบบ Automation จะเข้ามามีบทบาท และธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลของ McKinsey ชี้ว่าประมาณ 60% ของบริษัททั่วโลกจะมีการใช้ AI ในกระบวนการธุรกิจภายในปี 2025 เพื่อการตัดสินใจที่มีข้อมูลและการบริการที่ทันสมัย ส่วน Gartner คาดว่าภายในปี 2025 ประมาณ 70% ของกิจกรรมด้านการตลาดทั้งหมดจะเป็นระบบอัตโนมัติ โดย AIจะถูกใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ปรับปรุงกระบวนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้า การใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจะมีความสำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างมาก
แนวทางธุรกิจ :
- นำ AI และระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการทำงาน เช่น ระบบ CRM หรือ Chatbot เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้า
- เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงการบริการ และเพิ่มความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภค
- ธุรกิจที่ใช้ AI เป็นที่ปรึกษาให้กับตัวลูกค้าเอง เสมือนลูกค้าได้คุยกับตัวเอง โดยใช้การพยากรณ์แนวคิดของลูกค้า จากพฤติกรรมที่เก็บข้อมูลได้ และสร้างบริการให้ลูกค้าปรึกษากับตัวเองในการตัดสินใจสำคัญ ๆ ในชีวิต
5. สังคมไร้เงินสด และ การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน
จากการสำรวจของ Visa มีตัวเลขที่ชี้ว่าประชากรไทย 80% ใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดและสามารถอยู่ได้โดยไม่จับเงินสดเลยเฉลี่ยยาวนานถึง 9 วัน 96% ใช้โมบายแบงกิ้งในการทำธุรกรรม 97% ใช้โมบายแบงกิ้งมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 54% เชื่อว่าไทยจะเป็นสังคมไร้เงินสดภายใน 4 ปี การเติบโตของการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนยังคงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์สำคัญในปี 2025 โดยเฉพาะการขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน และอินเดีย มีข้อมูลจาก eMarketer รายงานว่า การค้าข้ามพรมแดนคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องกว่า 15% ในตลาดเอเชียแปซิฟิกในปี 2025 ธุรกิจจึงควรปรับตัวโดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงตลาดเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว
แนวทางธุรกิจ :
- เตรียมพร้อมรองรับช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย และเพิ่มประสิทธิภาพการรับชำระเงินเพื่อให้เงินหมุนเวียนในธุรกิจได้รวดเร็ว
- พัฒนาโลจิสติกส์และบริการจัดส่งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน
- สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ให้มีจุดเด่น และมีสินค้าทดแทนได้ยาก เพราะการค้าข้ามพรมแดน อาจจะคู่แข่งคนสำคัญ ถ้าเราไม่ปรับตัว
- มุ่งสู่ความเป็น IoT ที่สมบูรณ์ เนื่องจากความไว้ใจในเทคโนโลยีและการจับจ่ายแบบไร้เงินสด ดังนั้น การพัฒนาแอปพลิเคชันไปกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถสั่งซื้อของออนไลน์ได้ในเวลาที่ผู้บริโภคต้องการ โดยไม่ต้องให้ผู้บริโภคคอยมอนิเตอร์เองเพียงแต่ตั้งค่าไว้ตั้งแต่แรก ก็เป็นทางแนวทางที่น่าสนใจ
ในปี 2025 เทรนด์ธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น ผู้ประกอบการจะเห็นชัดเจนว่าการรตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของตลาดและการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ สังคมไร้เงินสดที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2020 ในวันนี้มีความเข้มแข็งขึ้นมาก ผู้ประกอบการ SME จำเป็นจะต้องมองหาผู้ช่วยทางการเงินที่เข้าใจธุรกิจ ช่องทางการรับชำระเงิน การวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจ มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่ง ttb มีโซลูชันที่พร้อมเป็นผู้ช่วยที่จะช่วยให้การบริหารจัดการเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่ายดายและมีประสิทธิภาพ อย่าง ttb smart shop และ “ปังปัง” มังกรผู้ช่วยแสนฉลาด ที่จะพาทุกธุรกิจ ประสบความสำเร็จในทุกเป้าหมายแบบ ปังปัง !! รับเงินไว รู้ข้อมูลเชิงลึก จัดการง่ายทุกสาขา
ที่มา :
- สหประชาชาติ (UN)
- Gartner
- Grand View Research
- International Energy Agency (IEA)
- McKinsey
finbiz by ttb
โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม
พร้อมองค์ความรู้ ที่ครบครัน จาก Partner ชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบัน
ปรับตัวตอบโจทย์ยุคดิจิทัล พร้อมมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME