ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังคลี่คลาย เป็นจังหวะที่ SME สามารถเร่งกำลังเพื่อก้าวต่อไปในการสร้างฐานความแข็งแกร่งทางธุรกิจ
เราได้รวบรวมแนวคิดจากผู้ประกอบการ SME ที่มองเห็นแนวทางของการปรับแผนธุรกิจที่จะต่อยอดความมั่นคงให้แก่ธุรกิจ โดยได้ข้อสรุปใจความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์หลังโควิด-19 ผ่อนคลาย ซึ่งจากการแชร์ประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการ SME พบว่าการกระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินต่อของธุรกิจ ที่จะทำให้พร้อมรับมือได้ในทุกสถานการณ์ และยังเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญต่อการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจในระยะยาว
ธุรกิจที่ยืดหยุ่น มีช่องทางของรายได้ที่หลากหลาย จะสามารถปรับตัวได้ง่าย และได้รับผลกระทบน้อยกว่าธุรกิจที่มีช่องทางขายหรือกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดียว
ดังนั้นแล้วผู้ประกอบการ SME จึงควรวางแผน และกระจายความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อให้การรับมือที่ว่องไว ทันต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบอื่นใดในอนาคต
กระจายความเสี่ยง ต่อยอดธุรกิจ
การดำเนินธุรกิจประกอบไปด้วยซัพพลายเชนที่สำคัญในหลาย ๆ ส่วนการนำธุรกิจของเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนที่เราประกอบกิจการอยู่ ก็อาจจะทำให้เรามีกลยุทธ์ในการพลิกแพลง ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น จนสามารถเห็นช่องทางการขยายธุรกิจไปในช่องทางใหม่ ๆ ในซัพพลายเชนเดียวกันได้อีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านกาแฟ สมมติว่าปัจจุบันเราเป็นร้านกาแฟที่จำหน่ายให้ผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว เราอาจจะเริ่มศึกษาเพิ่มเกี่ยวกับการคั่วเมล็ดกาแฟ รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ก่อนจะมาเป็นเมล็ดกาแฟ ซึ่งการศึกษานี้ จะนำไปสู่การหาช่องทางต่อยอดเพิ่มเติมได้ อาจรวมไปถึงการเพาะปลูก การผลิตเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ หรือแม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์ที่จะไปถึงมือผู้บริโภคกันเลยทีเดียว อาจจะทำให้เราเห็นโอกาสในการทำรายได้จากหลากหลายช่องทาง โดยไม่ได้ยึดติดรายได้จากการขายกาแฟที่หน้าร้านเพียงอย่างเดียว
การมองให้ครบตลอดทั้งซัพพลายเชน ทำให้เราเห็นภาพรวมของทั้งอุตสาหกรรม อาจจะเป็นประตูสู่หนทางธุรกิจใหม่ ๆ และเป็นรากฐานความมั่นคงในอนาคตของเราก็เป็นได้ ดังนั้นไม่ว่าเราจะพบเหตุการณ์ที่กระทบในส่วนใดส่วนหนึ่ง เราจะมีอีกภาคส่วนของธุรกิจเข้ามารองรับทดแทนได้ทันเสมอ
วิเคราะห์ตัวเอง หาโอกาสใหม่ เพื่อกระจายการเข้าถึง
นอกจากการขยายธุรกิจไปยังซัพพลายเชนของเราแล้ว การวิเคราะห์ธุรกิจของเรา เพื่อกระจายช่องทางการขาย และหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ให้ต่อยอดถึงกันได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นจุดแข็งที่ธุรกิจเราจะพร้อมทดลองไปสู่ตลาดใหม่ ๆ หรืออาจจะหาโอกาสทดลองสินค้าใหม่ ให้กลุ่มลูกค้าเดิมที่เรามีอยู่แล้ว
โดยการวิเคราะห์ตัวเองอาจต้องใช้ผลการวิจัย เพื่อพัฒนาจนพบสิ่งที่เรามีศักยภาพ รวมถึงเสียงจากพนักงานและลูกค้า ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถพบจุดแข็ง ในแบบที่ตัวเราเองอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน การนำข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าเดิมมาวิเคราะห์ก็จะช่วยให้เห็นความเป็นไปได้ของกลุ่มลูกค้าเดิมที่อาจจะเพิ่มการบริโภคผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ของเราด้วย
เกาะติดเทรนด์ เห็นโอกาสกระจายสู่ช่องทางใหม่
เมื่อเรามีความพร้อมที่จะนำสินค้า และบริการใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองหาความต้องการ รวมถึงช่องทางเข้าถึงของกลุ่มลูกค้า
ช่องทางขายที่ไม่ต้องมีการลงทุน เช่น การขายแบบพรีออเดอร์ การขายแบบใช้ตัวแทนจำหน่ายในรูปแบบต่าง ๆ เพราะในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ผู้คนกำลังหารายได้เสริม แต่ก็ไม่ได้ต้องการที่จะลงทุนเองหรือสต็อคสินค้า การนำเสนอการเป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อรับคำสั่งซื้อสินค้า และส่งรายการคำสั่งซื้อมาที่บริษัทที่มีสต็อค ก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่ธุรกิจจะนำเสนอได้ เพื่อให้มีช่องทางในการขายที่เพิ่มมากขึ้น
หรือการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ซึ่งกำลังติดเทรนด์ในช่วงนี้ เป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต่อเนื่องมาจากช่วงเวลาที่ Work from Home จนกระทั่งผู้บริโภคบางกลุ่มสะดวกที่จะใช้ช่องทางออนไลน์มากกว่าการออกจากบ้านไปเสียแล้ว หากธุรกิจสามารถขยายช่องทางการขายเข้าไปสู่ตลาดออนไลน์ ก็จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้
สำหรับธุรกิจที่เป็นออนไลน์อยู่แล้ว ก็อาจจะลองพิจารณาช่องทางออฟไลน์ไว้สำหรับเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่นิยมซื้อสินค้าจากหน้าร้านค้าเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการขาย และกระจายความเสี่ยง โดยจะเป็นรูปแบบที่เราทำเอง หรือให้ตัวแทนจำหน่ายทำก็เป็นได้
ที่มา:
- งานสัมมนาออนไลน์ “SME เตรียมรุกและก้าวต่อไปอย่างไร... หลังคลายล็อกดาวน์” โดย ttb