จากการที่โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากทุกภาคส่วนยังไม่รีบร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งสำหรับภาคธุรกิจถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้ทั้งโลกและธุรกิจเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนได้ จึงได้มีแหล่งเงินทุนที่มาสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อธุรกิจโดยเฉพาะ แต่...แหล่งเงินทุนเหล่านี้มีอะไรบ้าง และ ธุรกิจต้องดำเนินการอย่างไรจึงจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ finbiz by ttb มีคำอธิบาย และเส้นทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนี้ก็ง่ายกว่าที่คิด
มารู้จักกับแหล่งเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมสำหรับธุรกิจกันก่อน...
แหล่งเงินทุนสนับสนุนภาคธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งสินเชื่อสีเขียว สินเชื่อสีฟ้า สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางทะเล โดยมีความหมายดังนี้
หุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) หรือหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนทางทะเล (Blue Bond) คือ การที่ธุรกิจได้รับเงินทุนจากหุ้นกู้ โดยมีธนาคารเป็นผู้ช่วยธุรกิจในการออกหุ้นกู้สีเขียว โดยธนาคารจะทำหน้าที่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของธุรกิจ ประเมินและคัดเลือกโครงการที่ระดมทุน และตรวจสอบการใช้เงินที่ระดมทุนจากหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนทางทะเลว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่
สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) เป็นสินเชื่อที่ธนาคารมอบให้เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการจัดการน้ำและของเสีย โครงการอนุรักษ์พลังงาน โครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการปกป้องสิ่งแวดล้อม
สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนทางทะเล หรือ สินเชื่อสีฟ้า (Blue Loan) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อสีเขียว มุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการน้ำและทะเล เป็นสินเชื่อที่ธนาคารมอบให้เพื่อสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และโครงการอื่น ๆ ที่ช่วยลดผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล
สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-linked Loan: SLL) คือ สินเชื่อที่่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่่สร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อมหรือสังคม และมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานหลักและเป้าหมายผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
ธุรกิจต้องทำอะไร จึงจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม
ผู้ประกอบการอาจจะยังมีคำถามว่า การจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจะต้องมีโครงการที่มีลักษณะอย่างไรบ้าง จึงจะเรียกว่าเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นสีเขียว หรือสีฟ้า ซึ่งที่แท้จริงก็ไม่ยาก และยังน่าสนใจกว่าที่คิด โดยโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เน้นไปที่การดำเนินงานที่บรรเทาและปรับตัวต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บริหารจัดการมลพิษและของเสีย และอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงคเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ข้อที่ 6, 7, 9,11-15 ว่าด้วยเรื่องของน้ำสะอาดและสุขอนามัย พลังงานหมุนเวียนในราคาที่เข้าถึงได้ อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ความมุ่งมั่นในการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานมีความยั่งยืน ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปกป้องระบบนิเวศน์บนบก และใต้น้ำรวมถึงทะเล โดยยกตัวอย่างแหล่งเงินทุนธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมของทีทีบี จะแบ่งหมวดหมู่ของคุณสมบัติโครงการออกเป็น 7 หมวดหมู่ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแนวทางในการจัดการให้ตรงตามจุดประสงค์ได้ ดังนี้
กลุ่มสีเขียว เน้นไปที่เรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด อาคารที่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึง การใช้ทรัพยากร พลังงาน และสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำอุตสาหกรรม นวัตกรรม การมีโครงสร้างพื้นฐาน การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานมีความยั่งยืน ความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีจุดประสงค์เพื่อการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประกอบ 3 หมวดหมู่
กลุ่มสีเขียวและสีฟ้า เน้นไปที่เรื่องพลังงานหมุนเวียนในราคาที่เข้าถึงได้ การมีน้ำสะอาดและมีสุขอนามัย การทำอุตสาหกรรม นวัตกรรม ให้มีการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปกป้องระบบนิเวศน์บนบก และใต้น้ำรวมถึงทะเล โดยมีจุดประสงค์เพื่อการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการมลพิษและของเสีย การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบ 4 หมวดหมู่
โดยโครงการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด จะต้องมีจุดประสงค์ มีแผนงานของกระบวนการ และแผนการจัดการการเงินที่ได้จากการระดมทุน รวมถึงมีแผนการประเมินผลและจัดทำรายงานได้อย่างชัดเจน
จากหมวดหมู่ทั้ง 7 จะช่วยเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการนำไปจัดทำโครงการเพื่อให้สถาบันการเงินประเมินและคัดเลือกในการออกหุ้นกู้ หรือขอสินเชื่อสีเขียว สีฟ้า ได้โดยไม่ยาก นอกจากนี้ยังส่งผลดี ต่อธุรกิจ และยังทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนของโลกอีกด้วย
ที่มา :
- ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb)
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- เครือข่ายธนาคารเพื่อความยั่งยืน
finbiz by ttb
โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม
พร้อมองค์ความรู้ ที่ครบครัน จาก Partner ชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบัน
ปรับตัวตอบโจทย์ยุคดิจิทัล พร้อมมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME