ทำไม SME ต้องให้ความสนใจกับ ESG ?
ESG คือ แนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนใน 3 ด้าน
- Environment ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ
- Social บริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ความเป็นอยู่ของสังคมทั้งภายในและนอกบริษัท
- Governance หลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลกิจการที่ดี มีแนวทางบริหารความเสี่ยงชัดเจน ต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน
ซึ่งธุรกิจที่ทำ ESG จะส่งผลดีต่อองค์กรในหลาย ๆ ด้าน อาทิเช่น ในช่วงโควิด-19 องค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ESG สามารถเติบโตได้และฟื้นตัวได้ไวกว่าบริษัทที่ยังไม่ได้นำ ESG เข้ามาเป็นกลยุทธ์ขององค์กร เพราะองค์กรที่ได้ลงมือด้าน ESG จะส่งผลให้ดึงดูดนักลงทุน ดึงดูดผู้ร่วมงานในระดับพรสวรรค์ และทำให้ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค
เพราะ ESG ที่ SME ต้องทำ ไม่ใช่แค่เรื่องรักษ์โลกสีเขียว
ESG เป็นแนวทางที่สอดรับกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) สิ่งแวดล้อมสีเขียว สังคม และความโปร่งใสในประเด็นต่าง ๆ 5 มิติ อันได้แก่ สังคม (PEOPLE) เศรษฐกิจ (PROSPERITY) สิ่งแวดล้อม (PLANET) สันติภาพ และความยุติธรรม (PEACE) การพัฒนา ร่วมกัน (PARTNERSHIP)
ESG จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องรักษ์โลกที่หมายถึงแต่เพียงธรรมชาติต้นไม้สีเขียวอย่างเดียวเท่านั้น
โมเดล BCG คืออะไร เกี่ยวข้องกับ ESG อย่างไร ?
BCG เป็นวาระแห่งชาติไทย มีจุดประสงค์ให้สอดคล้องกับ ESG โดยเน้นไปที่การผลิตและใช้อย่างคุ้มค่า เข้ากับบริบทของไทย ที่มีจุดแข็งเป็นภาคกสิกรรม นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์
BCG จึงเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อยอดจุดแข็งของประเทศไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เน้นความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม กลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง
- B = Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ การนำทรัพยากรชีวภาพมา ผลิตให้คุ้มค่าควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการ สร้างมูลค่าเพิ่ม
- C = Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ใช้ผลิตภัณฑ์เต็มวงจร ของที่ใช้ในการผลิตต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- G = Green economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว การสร้างความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
6 ข้อได้เปรียบ เมื่อ SME ทำ ESG
- เป็นหนทางในลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
เช่น การติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ยกตัวอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ การลงทุนในช่วงแรก อาจเป็นการลงทุนที่ดูเหมือนจะสูงสักหน่อย แต่ได้ผลระยะยาว ก็จะช่วยลดค่าไฟฟ้าไปได้มาก นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายโดยตรง ยังเป็นการเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรอีกด้วย
- เพิ่มความมั่นคงของซัพพลายเชน
ยิ่งในกลุ่มที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศยิ่งเห็นได้ชัด เช่น ในยุโรปที่มีภาษีคาร์บอนแล้ว และกำลังจะบังคับใช้ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือการเก็บภาษีคาร์บอนก่อนเข้ายุโรป โดยจะเริ่มเร็ว ๆ นี้ หากหนึ่งในซัพพลายเชนยังมีคาร์บอนเกินกำหนด ก็มีโอกาสที่คู่ค่าอาจเปลี่ยนใจไปใช้สินค้าจากองค์กรอื่น เป็นต้น แต่หากได้เริ่มลงมือด้านความยั่งยืนแล้ว ก็เสมือนมีกุญแจที่จะไขประตูไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มีกฎระเบียบใด ๆ ด้านความยั่งยืนได้
- ดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ระดับพรสวรรค์ (Talent)
พนักงานคุณภาพจะให้ความสนใจเรื่องความรับผิดชอบต่อโลกขององค์กรอย่างมาก ดังนั้น เมื่อองค์กรมีการลงมือเพื่อความยั่งยืน ยิ่งมีโอกาสได้ Talent เข้ามาร่วมงาน
- ดึงดูดนักลงทุน
นักลงทุนจะลงทุนกับองค์กรที่ได้ลงมือเรื่องความยั่งยืนไปแล้ว ไม่ใช่เพราะความนิยมส่วนตัว แต่นั่นหมายถึง มูลค่าขององค์กรที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
- โอกาสในการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ
การสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนในหลายครั้งทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และอาจแข็งแรงถึงขั้นสร้างธุรกิจใหม่ได้อีกด้วย
- เสริมภาพลักษณ์องค์กร
ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า ตลอดจนเป็นหนทางพัฒนาสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน เมื่อผู้คนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น การได้เริ่มลงมืออย่างจริงจังจะเสริมภาพลักษณ์ให้กับองค์กรอย่างมาก และยังสามารถครองใจลูกค้า รวมถึงพัฒนาต่อยอดได้อีกด้วย
ESG จึงต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ เริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันเราจะต้องเริ่มได้แล้ว ไม่ว่าในมิติใดมิติหนึ่ง จะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคม หรือ ธรรมาภิบาล โดยผู้นำองค์กรที่เห็นความสำคัญจะสามารถผลักดันองค์กรและผนวกแนวคิด ESG ได้โดยไม่ใช่เรื่องยาก
SME จะทำ ESG เริ่มจากตรงไหน ?
เป็นคำถามของผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่าน ที่อาจจะยังมองว่า ESG เป็นเรื่องที่ไกลตัว แล้ว SME จะเริ่ม ESG จากจุดไหนดี finbiz by ttb ขอนำเสนอแนวคิดที่จะช่วยให้การเริ่มต้นนั้นง่ายขึ้น
- Start with ESG Mindset เริ่มจากชุดความคิดของเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารระดับสูง จะสามารถผลักดันและจุดประกายความยั่งยืนให้ทุกคนในองค์กรเห็นด้วย
- Start with What We Have มองหาสิ่งที่องค์กรมี สรรหาบุคลากรที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันของแต่ละฝ่ายมาร่วมกันสร้างทีม ESG ระดมสมองและเลือกหยิบยกสิ่งที่มี และสำคัญที่สุดมาเริ่มต้นทำ วางแผนเพื่อให้เกิด Quick Win ในองค์กร
- Start Together สร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่เกี่ยวข้อง คู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) กำหนดเป้าหมายและวิธีการวัดผล
- Start Now สื่อสารและจัดทำรายงานให้ทุกคนในองค์กรและคนนอกบริษัทเข้าใจใน ESG ที่องค์กรกำลังดำเนินการ
นอกจากนี้สิ่งที่ SME สามารถโฟกัสก่อน 2 สิ่ง คือ
- การผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความสูญเปล่า (Waste) ตามหลักการ LEAN Six Sigma และ
- ด้านการบริหาร เน้นการบริหารบุคลากรเป็นสิ่งที่ SME สามารถทำได้ก่อน
CBAM ความท้าทายใหม่ ของ SME ไทยภาคส่งออก
CBAM คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในยุโรป
โดยมี 5 อุตสาหกรรมแรกที่จะเข้ามาตรการ CBAM ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อลูมิเนียม ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า
ปัจจุบันไทยเป็นผู้รับจ้างผลิต โดยมี 4.3% ของ 28,573 ล้านบาท ผู้ประกอบการไทย ส่งออกไปยังยุโรป และอยู่ใน 5 อุตสาหกรรมที่ CBAM กำหนด
ผู้ประกอบการที่ส่งออกไปจึงต้องเร่งจัดการด้านการลดปริมาณคาร์บอน เพื่อให้พร้อมเมื่อ CBAM จะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2023 โดยมีระยะเวลาสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่าน 3 ปี และจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2026 ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้า หรือ ซื้อ CBAM Certificate ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้า
SME ไทย ควรปรับตัวให้ไว พร้อมรับมือกับภาษีคาร์บอน
CBAM เข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านในเดือนตุลาคม 2023 และสำหรับประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาภาษีคาร์บอน คาดการณ์ว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ โดยพิจารณาจาก กลุ่ม 5 เข้ามาตรการ CBAM ก่อน ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อลูมิเนียม ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และกลุ่มที่จะเข้า CBAM ตามมา ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และ พอลิเมอร์
ซึ่งการมีภาษีคาร์บอนของไทยจะส่งผลดีโดย จะทำให้ไทยได้รับการยอมรับ และมี Certificate เพื่อรับรองปริมาณคาร์บอน สอดรับกับมาตรการ CBAM และ มาตรการด้านคาร์บอนอื่น ๆ
E แห่ง ESG ที่ SME ทำได้
5 ตัวอย่างการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับ SME ที่ให้ความสนใจ ESG และให้ความสำคัญไปทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นสิ่งที่สร้างความได้เปรียบกับธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านความสนใจของผู้บริโภค นักลงทุน รวมไปถึงเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
ซึ่งโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ SME สามารถเริ่มต้นได้ไม่ยาก รวมไปถึงอาจเป็นสิ่งที่ธุรกิจทำอยู่แล้ว ดังเช่น 5 กิจกรรมเหล่านี้
- การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เช่น การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ
- การบำบัดน้ำเสีย ที่ในหลายธุรกิจมีการบำบัดน้ำเสียอยู่แล้ว ที่ต้องเพิ่มความสำคัญให้มากขึ้น
- การเลือกวัตถุดิบ โดยการเลือกวัตถุดิบที่สามารถใช้ได้อย่างคุ้มค่า และทำให้กระบวนการในการผลิต หรือย่อยสลายมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
- การลดของเสียในกระบวนการผลิต การใช้ทุกส่วนประกอบของวัตถุดิบโดยไม่เหลือทิ้ง ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่ม ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง
- การนำของเสียกลับมาแปรรูปใช้งาน คือ การนำส่วนที่เคยเป็นของเหลือทิ้งมาประกอบกับกระบวนการคิดและนวัตกรรมให้สามารถนำมาผลิตใหม่ได้
ที่มา :
- งานสัมมนา “ลงทุน เพื่อความยั่งยืน เริ่มต้นจากการสร้างคน” ttb
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
finbiz by ttb
โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม
พร้อมองค์ความรู้ ที่ครบครัน จาก Partner ชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบัน
ปรับตัวตอบโจทย์ยุคดิจิทัล พร้อมมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME