ข่าวกลโกงของมิจฉาชีพทางออนไลน์ มีออกมาไม่เว้นแต่ละวัน และต้องบอกว่ามิจฉาชีพเหล่านี้ แฝงตัวอยู่ทั่วทุกวงการ ทั้งแอบอ้างว่าเป็นตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ หรือติดต่อจากบริษัทดัง ๆ หลายแห่ง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่กับบุคคลทั่วไป แต่ยังส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของ SME ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเป้าหมาย ผู้ประกอบการ SME ต้องปรับตัวอย่างไร มาดูกัน
6 มุกยอดฮิต ที่มิจฉาชีพใช้หลอกบ่อย ๆ
จริง ๆ แล้วมิจฉาชีพออนไลน์เหล่านี้ มีรูปแบบของการหลอกลวงที่หลากหลาย และจะมีการปรับเปลี่ยนมุกในการหลอกไปเรื่อย ๆ ต่อไปนี้คือมุกยอดฮิตที่ผู้ประกอบการ SME ควรรู้ให้ทัน
1. Call Center หลอกลวงข่มขู่ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ให้เหยื่อโอนเงินให้
ไม่ว่าจะเป็นการอ้างว่าส่งพัสดุผิดกฎหมาย หลอกลวงให้โอนเงิน โดยอ้างว่าเป็นสถาบันการเงิน และแจ้งว่ามีการติดหนี้บัตรเครดิตอยู่ให้รีบชำระในทันที หรือหน่วยงานราชการเพื่อให้จ่ายค่าปรับ แล้วหลอกให้โอนเงินก็ตาม ถือเป็นมุกหลอกลวงอันดับหนึ่งในเวลานี้เลยก็ว่าได้
2. หลอกให้ลงทุนต่าง ๆ โดยอ้างผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง
เป็นการที่มิจฉาชีพออนไลน์ทำการหลอกลวงให้คุณลงทุนโดยอาศัยผลตอบแทนเป็นตัวเลขที่สูง เกินจริง เช่น ลงทุนแค่ 1,000 บาท จะได้ผลตอบแทนถึง 10,000 บาท เป็นการกระตุ้นให้รีบตัดสินใจลงทุน
3. Romance Scam หลอกให้รักลวงเอาทรัพย์สิน
กลลวงออนไลน์ ที่เรียกว่า พิศวาสอาชญากรรม หลอกให้รักทางออนไลน์ คุยแชทกันดี ๆ ก็หายไปพร้อมกับทรัพย์สินที่เหยื่อหลงโอนไปให้
4. ลิงก์ปลอมหลอกแฮกข้อมูลโทรศัพท์
มักเกิดกับการซื้อขายออนไลน์เช่น สั่งซื้อสินค้ากับร้านค้าแล้วทางร้านส่งลิงก์การชำระเงินปลอม ให้เรากรอกข้อมูลบัตร แล้วหลอกเอาข้อมูลทางการเงินไป
5. หลอกเอาข้อมูล OTP
โดยมิจฉาชีพออนไลน์จะนำเอาข้อมูล OTP ไปสวมรอยแอบอ้างยืนยันตัวตนของผู้เสียหาย
6. ปลอม Account Social ยืมเงิน
เริ่มเป็นข่าวดังจากการที่ดารานักแสดงโดนนำบัญชีโซเชียลไปแอบอ้างยืมเงิน หรือหลอกให้โอนเงิน แต่ปัจจุบันมิจฉาชีพปลอมบัญชีทางโซเชียลของบุคคลทั่วไปแล้ว
มิจฉาชีพส่งผลกระทบกับธุรกิจ SME อย่างไร?
ผลกระทบที่ผู้ประกอบการ SME จะได้รับมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงขั้นระดับใหญ่ ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการซัพพลายเชนรายใหญ่ที่โดนนำชื่อไปแอบอ้างหลอกลวง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง และยังส่งผลเสียต่อธุรกิจในด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. ธุรกิจขาดความน่าเชื่อถือ / ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นต่อธุรกิจ
หากธุรกิจที่คุณทำอยู่ในประเภทเดียวกับธุรกิจที่สร้างความเสียหายหรือถูกมิจฉาชีพนำไปหลอกลวง เช่น ธุรกิจซัพพลายเชนขนส่ง ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ อาจส่งผลให้ธุรกิจของคุณพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะขาดความน่าเชื่อถือ ลูกค้าเกิดความไม่มั่นใจในการใช้บริการ หรือซื้อสินค้า
2. ลูกค้าไม่ตอบรับ ยอดขายตก
การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าเป้าหมายรายใหม่ ๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากลูกค้าไม่เชื่อถือ โดยเฉพาะการโทรศัพท์เข้าไปแนะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งลูกค้าไม่ตอบรับการซื้อสินค้า ส่งผลให้ยอดขายตก
ธุรกิจ SME ต้องรับมืออย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค
แน่นอนว่าเมื่อเจอผลกระทบ ทั้งการขาดความเชื่อมั่นจากลูกค้า และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ จนส่งผลต่อยอดขายแล้ว ผู้ประกอบการ SME ต้องเร่งเรียกความมั่นใจ และไว้วางใจ ของลูกค้าให้กลับมา ขณะเดียวกันก็ต้องหามาตรการป้องกัน และรับมือกับเหล่ามิจฉาชีพ ดังนี้
- ใช้เบอร์โทรศัพท์ธุรกิจ ติดต่อลูกค้า ไม่ใช้เบอร์ส่วนตัว
- ใช้ SMS สำหรับ Business ส่งข้อมูลข่าวสาร โปรโมชันให้ลูกค้า
- ขอเครื่องหมาย Verified ยืนยันการตรวจสอบบัญชีผู้ใช้จริง สำหรับบุคคลสาธารณะ หน่วยงานรัฐ แบรนด์ หรือธุรกิจต่าง ๆ
- แจ้งข้อมูลข่าวสารให้หลากหลายช่องทาง เช่น แจ้งล่วงหน้าผ่าน Social Media ทั้ง Facebook, Twitter, Line Official
- แสดงตัวตนติดเครื่องหมาย DBD Registered ไว้ที่เว็บไซต์ เพื่อการันตีว่าธุรกิจคุณถูกต้องตามกฎหมาย น่าเชื่อถือ ปลอดภัยไม่โดนโกงแน่นอน
เสริมความเชื่อมั่น SME ด้วย PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับธุรกิจ SME การนำกฎหมายเรื่อง PDPA หรือพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาใช้จะยิ่งปลอดภัย โดย PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็น พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด โดยองค์กรหรือหน่วยงาน ที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ต้องไม่นำเอาข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ อีเมล เลขบัตรประจำตัวประชาชน ไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับความยินยอม โดยพ.ร.บ. นี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 นี้
เมื่อมีกฎหมาย PDPA คุ้มครองผู้บริโภคเช่นนี้แล้ว จะทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า ในการใช้บริการและซื้อสินค้า เพราะเมื่อลูกค้าไว้วางใจยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ให้กับธุรกิจ SME ในการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งแล้ว หากวันหนึ่งข้อมูลมีการรั่วไหล ก็จะมีบทลงโทษทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และโทษปรับจำนวน 5 ล้านบาท หรือจำคุกสูงสุด 1 ปี และยังต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน ตามความเหมาะสมในแต่ละกรณีนั้น ๆ
เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมาย PDPA ธุรกิจ SME จึงจำเป็นต้องดำเนินการในการ กำหนดนโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ Privacy Policy พร้อมทั้งจัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่ปลอดภัย รวมทั้งมีระบบแจ้งเตือนหากข้อมูลเกิดการรั่วไหลด้วย
ที่มา :
finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้ ต่อยอด เอสเอ็มอี สู่การเป็น Smart SME
ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมองค์ความรู้ที่ครบครัน จาก Partner
ชั้นนำทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
พร้อมปรับตัวในยุคดิจิทัล และเติบโตอย่างยั่งยืน
“ครบ จบในที่เดียว ปรับใช้ได้ง่าย ต่อยอดได้จริง สู่การเป็น Smart SME”
อัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดี ๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด
เพียงแอดไลน์ @ttbSME หรือคลิกเพิ่มเพื่อน