<p>จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ทำให้ประชาชนยังต้องระมัดระวังการใช้ชีวิตและการใช้จ่าย ผนวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังถูกแรงกดดันเพิ่มเติมจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยหลังปฏิบัติการพิเศษทางทหารฯ มีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบเร่งตัวสูงขึ้นมาก ttb analytics หรือ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดว่า ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 120 ดอลลาร์ต่อบาเรล และในกรณีที่สถานการณ์ยืดเยื้อบานปลาย ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับราคาขึ้นถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีโอกาสอยู่ในระดับสูงตลอดปี 2565</p>
<p>ด้วยสถานการณ์การบริโภคภาคเอกชนที่ได้แผ่วลงจากการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน นับตั้งแต่มกราคม ปี 2565 รวมกับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผ่านผลกระทบเพิ่มไปยังผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบทันทีและรุนแรงมากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงในบ้านและการเดินทางถึง 25% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นราว 15% จากปี 2564 ขณะเดียวกันยังมีสัดส่วนการบริโภคในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสัดส่วนสูงถึง 20% ซึ่งปรับเพิ่มราคาขึ้นราว 8% ขณะที่ยอดขายสินค้าหมวดคงทน โดยเฉพาะรถยนต์จะยังขยายตัวได้จากมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ แม้ผู้ซื้อบางส่วนอาจชะลอการซื้อออกไปสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงระยะเวลาต่อจากนี้ไปลดลง ประกอบกับรายได้และการจ้างงานทั่วไปที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ในขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง</p><strong>จึงมองว่าการบริโภคภาคเอกชนของไทยโดยรวมจะฟื้นตัวล่าช้าที่ 2.7% แม้จะได้รับแรงพยุงบางส่วนจากมาตรการกระตุ้นฯ ของภาครัฐ</strong>
<p>ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจะส่งผลให้การท่องเที่ยวภายในประเทศลดลง โดยกระทบต่อกิจกรรมและการเดินทางในช่วงสงกรานต์ อีกทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเดินทางเข้าไทยหลังเปิดประเทศส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปมากถึง 45% และชาวรัสเซีย 7%<strong> ซึ่งความไม่มั่นคงในภูมิภาคยุโรปจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยลดลง และคาดว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพียง 4.5 ล้านคน</strong>
<p>ด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทย จะได้รับผลกระทบทางตรงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างจำกัด เนื่องจากมูลค่าการส่งออกโดยตรงของไทยไปรัสเซียและยูเครนมีสัดส่วน 0.45% จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกจากไทยไปยังรัสเซียที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด คือ หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน (30% ของมูลค่าส่งออกไปรัสเซียทั้งหมด) จากปัญหาห่วงโซ่การผลิตที่รุนแรงขึ้นและการขนส่งสินค้าที่อาจสะดุดตัวชั่วคราว ขณะที่การนำเข้าโดยตรงจากรัสเซียจะได้รับผลกระทบผ่านราคานำเข้าที่พุ่งสูงขึ้นและการขาดแคลนสินค้าในกลุ่มปุ๋ยเคมี (8% ของการนำเข้าปุ๋ยทั้งหมดของไทย) น้ำมันดิบ (3% ของการนำเข้าน้ำมันดิบ) และเหล็ก (2% ของการนำเข้าเหล็ก) รวมไปถึงการนำเข้าธัญพืชจากยูเครนด้วย เช่น ข้าวสาลี (13% ของการนำเข้าข้าวสาลีของไทยทั้งหมด</p>
<p>อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางอ้อมต่อไทยจะมีมากกว่า
โดยการส่งออกจะได้รับผลผ่านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และการนำเข้าจะถูกกระทบจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของคู่ค้าสำคัญของไทย
คือ สหภาพยุโรป-27 และสหรัฐอเมริกา
(รวมกัน 23% ของการส่งออกไทยทั้งหมด) ซึ่งประเทศเหล่านี้พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะเหล็ก
เคมีภัณฑ์ และพลังงานจากรัสเซียและยูเครนมาก ดังนั้น ในระยะถัดไปนอกจากจะเห็นการชะลอตัวในปริมาณการนำเข้าของไทยโดยเฉพาะหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์จากสหรัฐฯ
และยุโรปแล้ว ปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยก็จะชะลอตัวลงเช่นกัน
แต่เนื่องจากราคาส่งออกจะปรับสูงขึ้นมากตามต้นทุนที่เร่งตัว </p>
<p><strong>จึงประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทยปี
2565 จะอยู่ที่ราว 287 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 5.8%</strong>
<p><strong>ดังนั้น ภาระต้นทุนในประเทศที่สูงขึ้น พร้อมกับความต้องการภายในประเทศและเศรษฐกิจภาคต่างประเทศที่ชะลอตัวลง จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและกิจกรรมการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางลดลงเช่นกัน อีกทั้งการระมัดระวังในการจ้างงานใหม่เพื่อควบคุมต้นทุน ttb analytics จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.0% ซึ่งเป็นทิศทางฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ช้าลงกว่าที่เคยประเมินไว้เดิม </strong>
<p>ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ หากสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปยืดเยื้อบานปลายและเกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานในตลาดโลกและตลาดในประเทศทรงตัวระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ กิจกรรมภาคธุรกิจไทยก็อาจลดลงมากกว่าที่คาดจากสาเหตุการปรับต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระดับการจ้างงานในอนาคต</p>
<p>ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศในช่วงนี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจไทยที่ใช้พลังงานหรือวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ข้าวโพด ถั่วเหลือง และโลหะต่าง ๆ จำเป็นต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและผันผวนมากขึ้น ขณะที่การปรับราคาสินค้าขึ้นยังทำได้น้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนตามการบริโภค ที่มีแนวโน้มชะลอตัวและการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวช้าออกไป ความเสี่ยงด้านต้นทุนและด้านการตลาดของภาคธุรกิจจึงเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้ภาคธุรกิจจำต้องมีความระมัดระวังในการตัดสินใจขยายการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และภาคก่อสร้าง ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการขนส่ง การทำตลาดออนไลน์เพื่อเจาะตลาดใหม่ ๆ และบริหารสต๊อกสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วยรักษาการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจเอาไว้ได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ</p>